เมื่อ เข้าสู่ช่วงที่เราเรียกกันทั่วไปว่า "ท้องแก่" ก็เท่ากับเป็นช่วงเวลานับถอยหลังของการคลอดกันแล้ว เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น พอๆ กับที่คุณแม่รู้ว่าตั้งครรภ์นั่นล่ะค่ะ เพราะมีทั้งความยินดี และความวิตกกังวลไปพร้อมๆ กันฉะนั้น ถ้าเรารู้ถึงอาการก่อนคลอดไว้ก่อน จะได้ช่วยให้คุณแม่ได้มีเวลาเตรียมตัว ดูแลตนเอง และไม่ตกใจกันเกินไปเมื่อถึงเวลาคลอดจริง

เมื่อไหร่ถึงจะครบกำหนดคลอด 

การคลอดลูกปกติ หรือครบกำหนดนั้น นับอายุครรภ์ในช่วง 38-42 สัปดาห์หลังจากมีประจำเดือน แต่ถ้าลูกคลอดเร็วกว่านี้ (28-37 สัปดาห์) เรียกว่าคลอดก่อนกำหนด และ

ถ้าเลย 42 สัปดาห์ไป ถือว่าคลอดหลังกำหนด ซึ่งไม่ว่าคลอดก่อนกำหนดหรือคลอดหลังกำหนด อาจจะทำให้ทั้งตัวคุณแม่ และลูกในท้องเกิดปัญหาได้
อาการนำก่อนการคลอด

1. ท้องลด มักเกิดขึ้นช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอด เพราะลูกกลับศีรษะลงต่ำ เข้าไปอยู่ในอุ้งเชิงกราน ทำให้ท้องคุณแม่ต่ำลง คุณแม่จะรู้สึกหายใจสะดวกขึ้น ไม่อึดอัดบริเวณทรวงอกเหมือนที่ผ่านมา แต่มักปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นเนื่องจากมดลูกไปเบียดเนื้อที่กระเพาะปัสสาวะ และอาจเกิดอาการปวดหน่วงๆ ที่หัวหน่าว

2. ท้องแข็ง เกิดได้หลายสาเหตุ คุณแม่บางท่านอาจจะมีอาการ ท้องแข็งตั้งแต่ช่วงเดือนที่ 6 ก็เป็นได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นช่วงเดือนที่ 8 (ประมาณ สัปดาห์ที่ 32) เนื่องจากเป็นช่วงที่ลูกในท้องดิ้นมากที่สุด ซึ่งอาจมีส่วนทำให้มดลูกบีบตัวบ่อยขึ้น จึงเกิดอาการท้องแข็งขึ้นมา หรือถ้าคุณแม่รับประทานอิ่มมากก็ท้องแข็งเช่นกัน

มีวิธีการสังเกตดูว่า ถ้าคุณแม่รู้สึกว่ามดลูกบีบตัวเบาๆ ช้าๆ แข็งตัวอยู่พอสมควร แล้วก็คลายตัวช้าๆ เป็นวันละหลายครั้ง แต่ไม่เกิน 6-10 ครั้ง ก็แสดงว่าเป็นเพราะมดลูกบีบตัว ไม่เป็นอันตรายใดๆ แต่ถ้าแข็งจนเจ็บ และเจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องรีบไปพบแพทย์ ถึงแม้ว่ายังไม่ถึง หรือใกล้กำหนดคลอดก็ตาม

3. มีมูกเลือด เกิดจากมูกที่ปกติอุดอยู่ที่ปากมดลูก เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ผ่านเข้าไปบริเวณช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์ เมื่อใกล้คลอด ช่องคลอดมีการขยายตัว และมีเส้นเลือดเล็กๆ แตก ทำให้มูกเลือดไหลออกมาบ้าง บางคนอาจไหลก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์

4. น้ำเดิน คือ น้ำคร่ำคือน้ำที่อยู่ในถุง มีลักษณะเป็นน้ำใสๆ ไม่มีกลิ่น เมื่อใกล้คลอดถุงน้ำคร่ำมักแตกเอง มีน้ำไหลออกมา เราจึงเรียกว่า น้ำเดิน ซึ่งอาการน้ำเดินนี้ จะค่อยๆ ไหลซึมออกมาทีละนิด จนคุณไม่แน่ใจว่าเป็นน้ำเดินหรือเป็นระดูขาว และมักซึมออกมาช่วงลุกจากท่านั่งหรือท่านอน แต่ถ้าถุงน้ำคร่ำแตกจะมีน้ำเดิน ไหลออกมามากๆ เหมือนปัสสาวะราด

น้ำเดินอาจออกมาก่อนเจ็บครรภ์ หรือหลังจากมีอาการเจ็บครรภ์ไปแล้วก็ได้ ซึ่งถ้ามีอาการน้ำเดินถึงแม้ยังไม่เจ็บครรภ์ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

5. อาการเจ็บเตือน คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก จะรู้สึกกังวลกับการคลอดมาก โดยเฉพาะอาการเจ็บ ที่มีทั้งเจ็บเตือน เจ็บจริง จึงเกิดอาการไม่แน่ใจว่าจะคลอดหรือยัง ทำให้ไปโรงพยาบาลเก้อกันบ่อยๆ เราจึงรวบรวมอาการเจ็บเตือน เจ็บจริง มาแยกให้เห็นความแตกต่างกันค่ะ

อาการที่กล่าวมาทั้งหมด แตกต่างกันไปบ้างในแต่ละท่าน แต่ถ้าคุณแม่มีข้อสงสัย หรือไม่แน่ใจก็ควรพบแพทย์ทันทีค่ะ

ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์