ฟลอร์ไทม์ (Floortime) คืออะไร ?

ฟลอร์ไทม์ คือ กิจกรรมเพื่อการบำบัดฟื้นฟูสำหรับเด็ก ใช้ได้ทุกปัญหาพัฒนาการ เช่น ออทิสติก ปัญญาอ่อน หรือพูดช้า โดยใช้ปฏิสัมพันธ์เชิงบวกที่ถูกต้องตามหลักของฟลอร์ไทม์ ซึ่งต่างจากกิจกรรมพาเล่น หรือพาฝึกสอนแบบอื่นทั่วไป

ข้อสำคัญ ต้องประกอบไปด้วยความรู้สึกที่อบอุ่น ปลอดภัย ไว้เนื้อเชื่อใจ เข้าอกเข้าใจ และให้เกียรติซึ่งกันและกันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กอย่างเต็มเปี่ยม


ใครทำการบำบัดแบบฟลอร์ไทม์?

พ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นผู้ที่ต้องลงมือทำกิจกรรมฟลอร์ไทม์กับบุตรหลานของตนเอง แทรกสอดสลับกันไปกับกิจกรรมการเลี้ยงดูประจำวัน ให้ได้วันละหลายๆครั้ง ทุกวันเป็นประจำ

นักบำบัด มีหน้าที่ประเมินและให้คำแนะนำผู้ปกครองเด็กว่า เด็กรายนั้นๆ มีปัญหาพัฒนาการแบบองค์รวมติดขัดในระยะใด และควรต้องทำกิจกรรมฟลอร์ไทม์ด้วยเทคนิคอย่างไร


พัฒนาการเด็กแบบองค์รวม (Functional Emotional Developmental Stages) คืออะไร?

การจะมีพัฒนาการที่ดีเป็นปรกติได้นั้น เด็กจำเป็นต้องบรรลุระดับความสามารถต่างๆ ไปทีละขั้นตอน จากหนึ่งไปสู่ สอง สาม สี่ ห้า หก ไม่สามารถลัดขั้นตอนได้ เด็กปรกติ จะเข้าสู่พัฒนาการขั้นต่างๆ ได้ด้วยตัวเองโดยง่าย แต่เด็กพิเศษ ต้องได้รับการช่วยเหลือที่พอเพียงและเหมาะสม จึงจะเกิดพัฒนาการตามขั้นได้


พัฒนาการ 6 ขั้น มีดังต่อไปนี้

ขั้น 1 สงบ จดจ่อ (อายุ 0-3 เดือน)

ขั้น 2 มีปฏิสัมพันธ์ ส่งยิ้ม สบสายตา (อายุ 2-5 เดือน)

ขั้น 3 สื่อสารด้วยภาษากาย (อายุ 4-9เดือน)

ขั้น 4 แก้ปัญหา (อายุ 9-18 เดือน)

ขั้น 5 มีภาษาพูด เล่นสมมุติ (อายุ 18-30 เดือน)

ขั้น 6 เชื่อมโยงเหตุผล (อายุ 30-48 เดือน)


กิจกรรมฟลอร์ไทม์ ทำอย่างไร?

ผู้ที่ทำกิจกรรมฟลอร์ไทม์ต้องหมั่นอ่านอารมณ์และความต้องการของเด็ก แล้วตอบสนองให้เหมาะสม เช่น

- ปลอบโยน ให้เกิดความสงบ สบายใจ

- แสดงความเข้าอกเข้าใจ เป็นพรรคพวกเดียวกันกับเด็ก

- เย้าแหย่แต่พอดีให้เกิดปฏิสัมพันธ์ โต้ตอบไปกลับระหว่างเด็กและผู้ปกครองที่ต่อเนื่องไปมาหลายๆรอบ และซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

- ใช้การปฏิสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อม เร้าให้เกิดการสื่อสาร การใช้ความคิดแก้ปัญหา ตลอดทั้งความคิดเชิงนามธรรมและการสมมติบทบาทที่จะช่วยยกระดับความคิดและการใช้เหตุผล

การจะทำอะไรกับเด็ก แต่ละช่วงเวลาจะเน้นกิจกรรมแบบไหน เป็นหน้าที่นักบำบัดที่จะแนะนำผู้ปกครอง


อาการอะไรที่แสดงว่าพัฒนาการอาจช้า?

อายุ 12 เดือน ยังไม่ส่งเสียง ชี้ หรือแสดงท่าทางบอกความต้องการของตัวเอง

อายุ 16 เดือน ยังไม่พูดคำที่มีความหมาย

อายุ 24 เดือน ยังไม่พูดเป็นวลี เช่น ไปเที่ยว

แสดงอาการถดถอยทางภาษาหรือทางสังคม ไม่ว่าจะมีอายุเท่าใด


ผู้ปกครองควรปรึกษากุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็กที่เชี่ยวชาญ เพื่อวินิจฉัยโรค

สนใจติดต่อ แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู

โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์

โทร 02-361-1111 ต่อ 2446


เอกสารอ้างอิง

1.หนังสือคู่มือการพัฒนาเด็กออทิสติกแบบองค์รวม (เทคนิค DIR/ฟลอร์ไทม์) โดย รศ.พญ.กิ่งแก้ว ปาจรีย์

2.www.floortimethailand.com

3.www.icdl.com/home