เปิดเทอมตอนนี้ บรรดาพ่อ แม่คงจะเห็นภาพลูกทั้งแบก ทั้งหิ้ว กระเป๋านักเรียนใบใหญ่ ที่ข้างในเต็มไปด้วยสมุด หนังสือ อุปกรณ์การเรียน ของเล่น หรืออาจเต็มไปด้วยขนมและเสื้อผ้าที่บรรจุแน่นเอี้ยดเพื่อเตรียมพร้อมกับภารกิจเรียนรู้ 
- การแบกกระเป๋าเกือบ 10 กิโลกรัม ไปโรงเรียนทุกวัน อาจกลายเป็นอันตรายต่อระบบโครงสร้างร่างกาย กระดูกสันหลัง ส่งผลเสียในระยะยาวโดยที่พ่อแม่อาจคาดไม่ถึง 
นักเรียนส่วนใหญ่จะใช้กระเป๋าประเภทสะพายไว้ข้างหลังทำให้น้ำหนักของกระเป๋ากดทับโดยตรงกับกล้ามเนื้อต้นคอ ไหล่ หลัง และกระดูกสันหลัง ทำให้เด็กประมาณร้อยละ 29 มีอาการปวดคอ ไหล่ หลัง หรือแม้กระทั่งอาการปวดศีรษะ หากไม่ได้รับการดูแล การกดทับของน้ำหนักกระเป๋าจะลงไปสู่กระดูกสันหลังของเด็กและหมอนรองกระดูกอาจเกิดปัญหาได้ หากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะเกิดผลเสียต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและสุขภาพของนักเรียนต่อไปในอนาคต 
- แนวทางการป้องกัน วิธีดีที่สุดคือการใช้กระเป๋านักเรียนที่ใส่สัมภาระน้ำหนักไม่เกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว ที่สำคัญขนาดของกระเป๋าต้องมีขนาดและรูปร่างพอดีกับตัวของเด็ก โดยจัดวางสิ่งของในกระเป๋าอย่างเหมาะสม กระจายน้ำหนักเท่ากันทั้ง 2 ด้าน หลีกเลี่ยงการวางสิ่งของหนักเพียงด้านเดียว หากเป็นกระเป๋าสำหรับสะพายไหล่สายควรกว้างมากกว่า 6 เซนติเมตร เพราะสายเล็กจะทำให้เกิดการกดทับบริเวณไหล่ได้ และอาจกดลึกจนมีผลต่อกล้ามเนื้อและเส้นประสาท 
- หากเป็นกระเป๋าสำหรับสะพายหลังควรปรับสายสะพายเพื่อให้กระเป๋าแนบบริเวณหลัง ไม่ห้อยต่ำ ก้นกระเป๋าต้องไม่อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าบั้นเอว ควรแนะนำเด็กให้เดินตัวตรง ไม่เอนตัวไปข้างหน้า หรือทำหลังค่อมเพื่อรับน้ำหนัก การแบกกระเป๋าจะต้องใช้สายสะพายไหล่ทั้งสองข้างเพื่อให้เกิดความสมดุล หากสะพายข้างใดข้างหนึ่งอาจทำให้ไหล่รับน้ำหนักไม่เท่ากัน ส่งผลทำให้ไหล่ไม่เท่ากัน และอาจมีความเสี่ยงต่อการปวดต้นคอ ไหล่ และหลังได้ 
ถ้าหากเด็กเกิดอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ หรือปวดศีรษะ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบโครงสร้างร่างกาย เพราะหากเกิดการกดทับของแนวเส้นประสาทแล้วจะทำให้ระบบต่างๆ ที่สัมพันธ์กันถูกรบกวน ทำให้เกิดความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานกับเด็กได้ค่ะ

ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์