"ประโยชน์ของเฉาก๊วย" ของหวานสีดำๆ ที่เคี้ยวหนึบหนับ และมีรสหวานจากน้ำเชื่อม รวมถึงความเย็นฉ่ำจากน้ำแข็งที่ใส่ผสมลงไป ทำให้ "เฉาก๊วย" กลายเป็นหนึ่งในของหวานยอดฮิต แต่นอกจากความหวานเย็นที่กินแล้วสดชื่นขึ้นมาในทันใด เฉาก๊วยก็ยังมีสรรพคุณอื่นๆ ที่ช่วยบำรุงร่างกายอีกด้วย 
เฉาก๊วยแท้ๆ จะทำมาจากต้นเฉาก๊วย ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งในตระกูลเดียวกับมินต์ (พืชจำพวกสะระแหน่) พบได้มากในประเทศจีน จึงทำให้ขนมเฉาก๊วยมีที่มาจากเมืองจีน และมีชื่อเรียกเป็นภาษาจีน (แต้จิ๋ว) แต่ก็ยังมีการเรียกที่แตกต่างกันออกไปตามภาษาถิ่นอีกด้วย อาทิ ในภาษาจีนกลางจะเรียกว่า เหลียงเฝิ่น หรือ เซียนเฉ่า ที่แปลว่าหญ้าเทวดา ขณะที่ชาวมาเลย์จะเรียกว่า จินเจา เป็นต้น ส่วนภาษาไทยเราก็เรียกว่า เฉาก๊วย ตามอย่างภาษาจีนแต้จิ๋ว 
- ความหนึบหนับของเฉาก๊วยนั้นมาจากกรรมวิธีการผลิตที่เริ่มจากนำต้นเฉาก๊วยแห้งมาต้มกับน้ำ จนยางไม้และแพคตินละลายออกมาได้น้ำสีน้ำตาลดำ ปัจจุบันบางร้านอาจมีการใส่สีลงไปผสมเพิ่มเติมเพื่อความสวยงาม จากนั้นกรองเอาแต่น้ำแล้วนำไปผสมกับแป้ง ซึ่งตามตำรับโบราณนิยมใช้แป้งท้าวยายม่อม และแป้งมันสำปะหลัง ตามสัดส่วนหรือตามสูตรของแต่ละคน ซึ่งจะทำให้ได้ความเหนียวหนึบนุ่มนิ่มที่แตกต่างกัน นิยมกินคู่กับน้ำตาลทรายแดง น้ำเชื่อม หรือจะใส่ส่วนผสมอื่นๆ ลงไปตามแต่ความชอบ 
- สรรพคุณของเฉาก๊วยที่เรารู้กันดีอยู่แล้วก็คือ ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ นอกจากนี้แล้วยังช่วยขับเสมหะ แก้คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ช่วยลดไข้ แก้ตัวร้อน ร้อนใน ลดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ลดอาการตับอักเสบ ลดอาการไขข้ออักเสบ และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือหากว่านำเฉาก๊วยมาต้มให้เดือดแล้วนำน้ำเฉาก๊วยมาดื่มเป็นประจำจะช่วยลดอาการโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน แต่ข้อควรระวังก็คือ น้ำตาลที่ใส่ผสมลงไปเพื่อให้มีรสชาติเพิ่มขึ้นนั้นต้องไม่มากเกินไปด้วย เพราะแทนที่จะได้ประโยชน์ อาจจะได้ผลเสียจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไปได้ค่ะ

ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์