อย่าได้แคร์ รังแค รังควาน
รังแค (Dandruff) เป็นภาวะที่เกิดจากเซลล์ผิวหนังบนศีรษะที่ตายแล้วหลุดลอกออกมามากเกินไปหรือเร็วเกินไป โดยตามวงจรปกติ เซลล์หนังศีรษะที่เกิดใหม่จะค่อยๆ เลื่อนจากใต้ผิวหนังขึ้นมาจนถึงผิวชั้นบนสุด และหลุดลอกออกไปในเวลาเฉลี่ยประมาณ 28 วัน ซึ่งเซลล์ที่หลุดออกจะมีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ถ้าวงจรการผลัดเปลี่ยนเซลล์หนังศีรษะถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้น เช่น เกิดการหลุดลอกในระยะเวลาเพียง 7-21 วัน เซลล์ที่หลุดออกมาก็จะเป็นสะเก็ดสีขาวหรือเทาที่มีขนาดใหญ่จนมองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า ซึ่งเราเรียกว่ารังแค แถมยังมีอาการคันศีรษะร่วมด้วย
ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ารังแคเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เชื่อว่า เชื้อราเซลล์เดียวที่เรียกว่า ?เชื้อยีสต์? และฮอร์โมนแอนโดรเจนมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเกิดรังแค นอกจากนี้ภาวะที่ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สบาย มีความเครียด รวมถึงการรบกวนหนังศีรษะ ไม่ว่าจะเป็นการรบกวนจากสารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม หรือการรบกวนทางกายภาพ ด้วยการเกา การถู ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดรังแคได้ แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด รังแคเป็นสิ่งที่เราสามารถวินิจฉัยได้ไม่ยาก แต่หากไม่แน่ใจว่ามีโรคผิวหนังชนิดอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยหรือไม่ ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์

การดูแลตัวเอง 
1.สระผมทุกวันด้วยยาสระผมขจัดรังแคอย่างอ่อน เพื่อขจัดไขมันส่วนเกิน แต่ควรสระผมด้วยน้ำเย็น เพื่อช่วยให้หนังศีรษะไม่แห้งและลอกเป็นขุย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดรังแค แถมยังทำให้ผมดูนุ่มสลวย เงางามอีกต่างหาก
2.เปลี่ยนชนิดของยาสระผมถ้าใช้ไม่ได้ผล
3.ใช้ยาสระผมหลายชนิดสลับสับเปลี่ยนกัน เพื่อลดการดื้อต่อตัวยา
4.หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ตกแต่งทรงผม เช่น เจลแต่งทรงผม มูส สเปรย์ฉีดผม เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจสะสมบนเส้นผมและหนังศีรษะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา
5.ปล่อยให้ผมแห้งเองตามธรรมชาติหลังสระผม
6.แปรงผมเบาๆ ตั้งแต่หนังศีรษะจนถึงปลายผม ด้วยหวีซี่ห่างๆ แต่ไม่ควรใช้หวีที่แข็งเกินไป หรือหวีซี่ถี่ๆ เพราะอาจจะดึงเส้นผมให้หลุดร่วงมากขึ้น
7.อย่าเกาหรือถูหนังศีรษะแรงๆ 
8.การใช้น้ำผสมน้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรีหรือลาเวนเดอร์ หรือใช้น้ำมัน 2-3 หยด ถูให้ทั่วหนังศีรษะ อาจช่วยลดการเกิดรังแคได้
9.ฝึกการจัดการกับความเครียด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดรังแค
10.รับประทานผักสด ผลไม้ เมล็ดธัญพืชมากๆ และควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำในปริมาณเพียงเล็กน้อยด้วย
11.จำกัดปริมาณการรับประทานน้ำตาลและยีสต์ เพราะสารเหล่านี้อาจส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของรังแค
12.รับประทานวิตามินบี ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพผิวและเส้นผม รวมทั้งอาหารประเภทเมล็ดธัญพืช ไข่แดง ถั่วเหลือง กล้วย ถั่วเปลือกแข็ง ผักใบเขียว และอะโวคาโด ซึ่งเป็นอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี
13.รับประทานอาหารที่มีธาตุสังกะสี เพื่อช่วยปรับการทำงานของต่อมไขมัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง และช่วยทำให้แผลหายเร็ว เช่น ไข่แดง ปลา(ซาร์ดีน) เนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน และเมล็ดธัญพืช เป็นต้น
14.ควรออกไปรับแสงแดดบ้าง โดยเฉพาะแสงแดดก่อน 9 โมงเช้า หรือหลัง 4 โมงเย็น ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง
15.หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เช่น การใช้แชมพูแรง ๆ น้ำยาดัดผม น้ำยาเซ็ทผม น้ำยาย้อมผม และน้ำมันแต่งผม เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้รังแคกำเริบได้
แต่ถ้าหากใช้ยาสระผมขจัดรังแคแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพราะรังแคอาจเป็นอาการของโรคผิวหนังอื่นๆ ได้อีกด้วยค่ะ และควรเลือกใช้แชมพูให้เหมาะกับสภาพเส้นผมนะคะ

ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์