"เห็นหยากไย่ลอย ทำให้ตาบอดจริงหรือ"
เชื่อว่าคงมีหลายๆท่านที่เคยหรือกำลังมีอาการคล้ายมีหยากไย่ แมลงวัน ยุง หรือใยแมงมุม ลอยบังไปมาในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองตา ซึ่งบางท่านอาจจะคล้ายมีแสงฟ้าแลบในตาร่วมด้วยใช่ไหมครับ ซึ่งเป็นสาเหตุให้หลายท่านกังวลว่าตาเป็นอะไรหรือเปล่า จะต้องรักษาหรือไม่ จะทำให้ตาบอดได้หรือเปล่า และคำถามอื่นๆอีกต่างๆนานา หรืออาจจะเจอคนรู้จักมาหาด้วยอาการอย่างนี้ จริงๆแล้ว ผู้ที่มีอาการอย่างนี้จะเป็นจากโรคอะไรได้บ้าง เช่น 
- น้ำวุ้นลูกตาเสื่อม ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด
- เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา จากสาเหตุต่างๆ เช่น จอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน
- การอักเสบในลูกตา 
ในที่นี้จะขอเขียนถึงเฉพาะกรณีน้ำวุ้นลูกตาเสื่อม ต้องขอทบทวนคร่าวๆเกี่ยวกับระบบกายวิภาคของลูกตาก่อน โดยดูจากรูปร่วมไปด้วยจะได้เข้าใจง่ายขึ้น ปกติตาจะมองเห็นได้นั้นแสงจากวัตถุต้องผ่านน้ำตาที่เคลือบผิวกระจกตา (cornea) น้ำในช่องลูกตาด้านหน้า (anterior chamber) แก้วตา (lens) น้ำวุ้นลูกตา (vitreous) และจอประสาทตา (retina) ตามลำดับ จากนั้นจะมีสัญญาณกระแสประสาทส่งไปตามเส้นประสาท (optic nerve) เข้าสู่สมองแปลเป็นการรับรู้ภาพวัตถุนั้นๆ ทีนี้ในบางคนโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมาก (ภาวะนี้พบน้อยกว่า 10% ในคนอายุน้อยกว่า 50 ปี แต่พบได้กว่า 60% ในคนอายุมากกว่า 70 ปี), ผู้ที่มีสายตาสั้นมาก, ผู้หญิง, คนที่ไม่มีเลนส์แก้วตา, มีการอักเสบในลูกตา หรือเคยมีประวัติการกระแทกที่ตาอย่างรุนแรง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมลงในส่วนของน้ำวุ้นลูกตาขึ้นมาได้ โดยจะเริ่มด้วยมีการเปลี่ยนสภาพจากวุ้นเป็นของเหลวในส่วนตรงกลางของน้ำวุ้นลูกตา ต่อมามีรูเกิดขึ้นที่ผิวของน้ำวุ้นลูกตาทางด้านหลัง ทำให้ของเหลวที่อยู่ตรงกลางไหลผ่านรูไปอยู่ระหว่างจอประสาทตากับผิวของน้ำวุ้นลูกตา เกิดการแยกตัวกันของน้ำวุ้นลูกตาและจอประสาทตา (posterior vitreous detachment) ประกอบกับน้ำวุ้นลูกตามีการหดตัวเล็กลงทำให้ความหนาแน่นเพิ่มขึ้นเกิดมีเส้นใยของคอลลาเจนที่หนาขึ้นมาได้ เส้นใยเหล่านี้ก็จะลอยไปมาในน้ำวุ้นลูกตา ถ้าลอยมาตำแหน่งที่แสงผ่านเข้าตาก็จะทำให้เราเห็นเป็นเงาคล้ายหยากไย่หรือยุงลอยไปมาในตาของเรา ซึ่งมักจะเห็นได้ตอนอยู่ในที่สว่าง มองผนังสีขาวหรือก้มลงดื่มน้ำ บางทีเราเข้าใจว่าหยากไย่บังอยู่หน้าตาเรา ลองใช้มือจับก็ไม่พบใช่ไหมครับ คงพอจะเข้าใจที่มาของอาการนี้มากขึ้นแล้วนะครับ 

ทีนี้มันมีความสำคัญอยู่ที่ว่า ถ้ามันมีแค่นี้ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องรักษาอะไร ถ้าเส้นใยเหล่านี้มันลอยมาแนวกลางตาก็บังแสงเข้าตา ถ้าลอยไปอยู่ริมๆ ก็ไม่บังตา แรกๆ เราอาจจะรำคาญหน่อย แต่นานๆไปเราจะชินมากขึ้นครับ แต่ปัญหามีอยู่ว่าในบางคนซึ่งส่วนน้อยนะครับไม่ใช่ทุกคน จะเกิดมีจอประสาทตาฉีกขาดตามมาได้ และอาจมีจอประสาทตาลอกทำให้ตามัวตามมา ซึ่งต้องรักษาโดยการผ่าตัดตา เมื่อรักษาหายแล้วตาก็มักจะไม่เห็นชัดเท่าเดิม แล้วทำไมจึงมีจอประสาทตาลอกได้ ก็เนื่องจากน้ำวุ้นลูกตากับจอประสาทตาซึ่งเดิมเคยอยู่ติดกัน บางส่วนก็อยู่ติดกันหลวมๆ บางส่วนก็อยู่ติดกันแน่น เช่นแถวรอบเส้นประสาทตา เส้นเลือดขนาดใหญ่ของจอประสาทตา และแถวจอประสาทตาบริเวณขอบๆ บริเวณที่อยู่ติดกันแน่นโดยเฉพาะแถวขอบของจอประสาทตาอาจถูกน้ำวุ้นลูกตาดึงเกิดกระแสสัญญาณไปสมอง ทำให้เรามองเห็นคล้ายมีแสงฟ้าแลบเกิดขึ้นในตาของเราเอง ซึ่งมักสังเกตพบตอนค่ำมืด หรือจอประสาทตาอาจถูกดึงแรงจนฉีกขาด อาจจะทำให้เส้นเลือดที่พาดผ่านจอประสาทตาแถวนั้นฉีกขาดไปด้วย มีเลือดออกลอยในน้ำวุ้นลูกตาก็ทำให้ตามองไม่ชัดมากขึ้น หรืออาจมองเห็นเป็นสีแดงๆ บังในตาหรือมีหยากไย่ลอยในตา นอกจากนี้น้ำวุ้นในลูกตาส่วนที่เหลวๆ ก็สามารถไหลผ่านรูฉีกขาดนี้ เซาะให้จอประสาทตาลอกตัวออกจากผนังลูกตา เรียกว่ามีจอประสาทตาลอก ทำให้ตามัวต้องรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งแม้รักษาหายแล้วการมองเห็นจะไม่ดีเหมือนเดิม ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าเราป้องกันไม่ให้เกิดจอประสาทตาลอกได้ก็จะดี แต่เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าใครที่มีอาการเห็นหยากไย่ในตาหรือแสงฟ้าแลบในตานี้จะมีจอประสาทตาฉีกขาดตามมา จักษุแพทย์จึงใช้วิธีนัดมาตรวจจอประสาทตาหลายครั้งเป็นระยะๆ 

ในผู้ที่มีการเสื่อมและแยกตัวของน้ำวุ้นลูกตาร่วมกับมีอาการเห็นคล้ายหยากไย่หรือฟ้าแลบในตา จะมีจอประสาทตาฉีกขาดร่วมด้วยประมาณ 15% ซึ่งควรได้รับการรักษาโดยการยิงเลเซอร์ 

แต่ถ้าดูจากว่ามีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตาร่วมด้วยหรือไม่ พบว่าผู้ที่มีการเสื่อมและแยกตัวของน้ำวุ้นลูกตา ถ้ามีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตาร่วมด้วยจะพบมีจอประสาทตาฉีกขาดร่วมด้วยได้ถึง70% 

แต่ถ้าไม่มีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตาร่วมด้วย จะพบมีจอประสาทตาฉีกขาดร่วมด้วยแค่ 2-4% เท่านั้น 

โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะตรวจจอประสาทตาผู้ที่มีอาการในครั้งแรกที่มาหา โดยหยอดยาขยายม่านตาซึ่งจะทำให้ตาข้างที่ขยายม่านตามองไม่ชัดชั่วคราวประมาณ 4-6 ชั่วโมง ดังนั้นถ้าไปหาแพทย์ควรพาใครไปด้วยเพื่อช่วยเหลือเราตอนกลับบ้าน ถ้าตรวจแล้วปกติ ไม่พบจอประสาทตาฉีกขาด จักษุแพทย์ก็จะนัดตรวจอีกครั้งใน 4-6 สัปดาห์ต่อไป ถ้าตรวจแล้วปกติอีกก็จะนัดอีก 1 ปี แต่ถ้าพบจอประสาทตาฉีกขาดก็จะรักษาโดยการยิงเลเซอร์หรือจี้ความเย็น ทั้งนี้การนัดอาจไม่เหมือนกันทีเดียวแล้วแต่จักษุแพทย์แต่ละท่าน โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจโรค เพื่อให้สบายใจว่าส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นปัญหาอะไร ไม่ต้องรักษาอะไร อาการนี้จะอยู่ไปตลอดได้แต่ไม่อันตราย และมักจะลดลงได้ เพียงแต่จะมีคนส่วนน้อยที่อาจจะมีปัญหาจอประสาทตาลอกตามมา สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ให้มาตรวจตามนัด และถ้ามีอาการเห็นหยากไย่หรือแสงฟ้าแลบในตามากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นหรือตามัวลง ให้รีบมาตรวจก่อนนัดเพราะอาจจะมีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้วนะคะ

ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์