ด้วยกายวิภาคของจมูกที่เป็นโพรง  มีช่องทางต่อเชื่อมกับอวัยวะข้างเคียง  เช่น ตา หู คอ  ทำให้โอกาสเชื้อแพร่กระจายเข้าถึงกันได้   ดังนั้นยาที่ใช้จึงต้องอยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงบริเวณที่มีรอยโรคหรืออาการผิดปกติได้อย่างทั่วถึง 

ยาที่ใช้เฉพาะที่ในจมูก  ได้แก่

1. ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น (intranasal corticosteroids) เช่น  

  • Budesonide nasal spray   ตัวอย่างยี่ห้อ  Rhinocort Aqua , Bunase  เป็นต้น
  • Fluticasone nasal spray   ตัวอย่างยี่ห้อ  Flixonase
  • Triamcinolone acetonide  ตัวอย่างยี่ห้อ  Nasacort –AQ

การใช้ยาอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จามและคัน ใช้รักษา

1.โรคภูมิแพ้ทางจมูก (Allergic rhinitis)

2.เยื่อบุจมูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดการภูมิแพ้ (Non-allergic rhinitis)

3.โรคริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps) วัตถุประสงค์เพื่อกำจัดหรือลดขนาดก้อนริดสีดวงจมูกและป้องกันการเกิดซ้ำหลังการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัด

4.โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute sinusitis) การใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะในโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันจะช่วยให้อาการทุเลารวดเร็วขึ้น   โดยทำให้รูเปิดโพรงอากาศข้างจมูกโล่ง การระบายหนองดีขึ้น

5.โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic sinusitis)  การใช้ยาจะเสริมฤทธิ์กับยาปฏิชีวนะ  การใช้น้ำเกลือล้างจมูกและยาลดการคัดจมูก (decongestant )  ทำให้อาการดีเร็วขึ้น

6. Allergic fungal sinusitis การใช้ยาจะช่วยรักษาริดสีดวงจมูก และโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ต่อเชื้อราที่พบร่วมกันได้

 อาการไม่พึงประสงค์ 

พบอาการไม่พึงประสงค์เฉพาะที่ (Local side effect) เช่น การระคายเคืองจมูกประมาณร้อยละ 5 – 10 ของผู้ป่วยที่ใช้ยา(จาม แสบร้อนหรือระคายเคืองเยื่อบุจมูกหลังพ่นยา) ,พบอาการน้ำมูกปนเลือดได้ร้อยละ 2 -5

2. ยาบรรเทาอาการคัดจมูกที่ใช้เฉพาะที่ในจมูก (Topical nasal decongestants)

ยาจะสามารถลดอาการคัดจมูกได้ทันที จากการทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดของเยื่อบุจมูก

อาการไม่พึงประสงค์

การใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 5-7 วันจะก่อให้เกิดอาการกลับมาเป็นซ้ำ (Rebound congestion )ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูกมากขึ้น มีอาการแห้งและระคายเคืองจมูกร่วมด้วย   ดังนั้นไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนานกว่า 5-7 วันขึ้นไป

การรักษา Rebound congestion

ทำได้ โดยการหยุดยาบรรเทาอาการคัดจมูกที่ใช้เฉพาะที่ในจมูก แต่จะทำให้มีผลต่อหลอดเลือดของเยื่อบุจมูกขยายตัว ทำให้เกิดการคัดจมูก วิธีการหยุดยาอาจค่อยเป็นค่อยไป โดยหยุดยาพ่นจมูกข้างใดข้างหนึ่งก่อน ผู้ป่วยยังสามารถใช้ยาพ่นอีกข้างหน้าได้ เมื่ออาการของรูจมูกข้างที่ไม่ได้พ่นยาดีขึ้นหรือหายจากอาการ rebound congestion แล้ว (ประมาณ 1 –2 สัปดาห์)  จึงหยุดยาออกจากจมูกอีกข้างหนึ่ง เช่น

ยา :  Oxymetazoline [hydrochloride] ตัวอย่างยี่ห้อ  Iliadin มีทั้งชนิดหยอด  และชนิดพ่น

    :  Xylometazoline [hydrochloride]   ตัวอย่างยี่ห้อ Otivin ชนิดพ่น

3. ยาต้านฮีสตามีนชนิดพ่นจมูก (Topical nasal antihistamine)

เช่น   :  Azelastine   ตัวอย่างยี่ห้อ Azep  มีข้อบ่งใช้ในโรคภูมิแพ้ทางจมูก

ข้อดี  :  ดีกว่ายาต้านฮีสตามีนชนิดรับประทาน คือ ออกฤทธิ์เร็วและเฉพาะเจาะจง หากใช้ตามขนาดที่แนะนำมักจะไม่มีอาการง่วงซึม

 วิธีการใช้ยาพ่นจมูก (< Nasal spray)

1. กำจัดน้ำมูกออกจากจมูกให้หมด (ถ้ามี)

2. เขย่าขวดยา นั่งตัวตรงเอนศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อย หรือก้มศีรษะ (ขึ้นกับยาแต่ละชนิด) แล้วหุบปาก

3. เปิดฝาขวดยาออก แล้วสอดปลายที่พ่นยาเข้าไปในรูจมูก ใช้นิ้วมืออีกข้างกดรูจมูกข้างที่เหลือ

4. สูดหายใจเข้าพร้อมกับกดที่พ่นยาเข้าจมูก การพ่นยาต้องให้ปลายหลอดพ่นชี้ไปทางผนังด้านข้างจมูกให้มากที่สุด ห้ามพ่นยาเข้าไปที่ผนังกั้นของจมูก

5. กลั้นหายใจ 2-3 วินาที

6. พ่นยาในรูจมูกอีกข้างด้วยวิธีเดียวกัน (ถ้าต้องพ่นยา 2 ข้างจมูก)

7. ถ้าต้องพ่นข้างละ 2 ครั้ง ควรพ่นข้างละ 1 ครั้งให้ครบทั้ง 2 ข้างก่อน แล้วจึงเริ่มพ่นครั้งที่ 2 ให้ครบทั้ง 2 ข้าง

8. เช็ดทำความสะอาดที่ปลายพ่น ปิดฝาเก็บให้เรียบร้อย

 คำแนะนำและคำชี้แจงเพิ่มเติม  

1. กรณีเป็นยาพ่นบรรเทาอาการคัดจมูก ให้ใช้ได้เป็นครั้งคราวเมื่อจำเป็น แต่ถ้าเป็นยาพ่นที่เป็นสเตียรอยด์ จะต้องใช้ยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง เพราะยานี้ไม่สามารถบรรเทาอาการได้โดยทันที

2. กรณีที่ผู้ป่วยต้องใช้ยาสม่ำเสมอ ถ้าลืมพ่นยาให้พ่นทันทีที่นึกขึ้นได้และพ่นครั้งต่อไปตามปกติ แต่ถ้านึกขึ้นได้ในระยะเวลาใกล้เคียงกับเวลาที่จะพ่นครั้งต่อไป ให้พ่นยาของครั้งต่อไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

3. ไม่ควรหยุดยา ลดขนาดยา หรือเพิ่มขนาดยา โดยไม่ปรึกษาแพทย์

4. การใช้ยาพ่นจมูก อาจทำให้รู้สึกถึงรสขมของยาได้ เพราะช่องจมูกกับคอมีทางติดต่อถึงกัน

วิธีใช้ยาหยอดจมูก (Nasal drops)

1. กำจัดเอาน้ำมูกออกจากจมูกให้หมด (ถ้ามี)

2. ล้างมือให้สะอาด

3. เปิดฝาครอบขวดยาออก

4. นั่งตัวตรงเอียงศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อย

5. หยดยาในรูจมูกตามจำนวนที่กำหนด ไม่ให้ปลายหลอดหยดสัมผัสกับโพรงจมูก

6. นั่งในท่าเดิมต่อประมาณ 5 นาที เพื่อป้องกันยาไหลย้อนออกมา

7. หยดยาในรูจมูกอีกข้างด้วยวิธีการเดียวกัน (ถ้าจำเป็นตามแพทย์สั่ง)

8. ทำความสะอาดปลายหลอดหยดด้วยน้ำสะอาด ซับให้แห้งแล้วปิดฝาเก็บให้เรียบร้อย

คำแนะนำและคำชี้แจงเพิ่มเติม

1. กรณีเป็นยาหยอดจมูกบรรเทาอาการคัดจมูก ให้ใช้ได้เป็นครั้งคราวเมื่อจำเป็น และใช้ยาติดต่อกันไม่เกิน 3-5 วัน

2. ถ้ายาหยอดจมูกเปลี่ยนสีหรือมีตะกอนให้ทิ้งไป

3. ไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกับผู้อื่น

วิธีการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ( Nasal irrigation)

การล้างจมูกจะช่วยลดการคัดจมูก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เนื่องจากน้ำเกลือจะช่วยลดการบวมของเยื่อบุจมูก ลดการหลั่งสารตัวกลางที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดการอักเสบ (inflammatory mediators)ต่างๆ และชะล้างน้ำมูกที่คั่งในโพรงจมูกออก ข้อบ่งใช้ขอน้ำเกลือได้แก่  ผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยหลังผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัส และ ผู้ป่วยหวัดที่มีอาการคัดจมูก

ขั้นตอนการล้างช่องจมูกสำหรับผู้ใหญ่

1. สั่งน้ำมูกเบาๆ ให้หม

2. ล้างมือให้สะอาด

3. เทน้ำเกลือ (อุ่นๆ) ประมาณ 240 ซีซี ลงในภาชนะที่เตรียมไว้

4. ใช้ลูกยางแดงหรือกระบอกฉีดยาดูดน้ำเกลือให้เต็มกระเปาะ

5. ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งหรือยืนก็ได้ ก้มศีรษะเหนืออ่างน้ำหรือภาชนะรองรับ

6. สอดปลายจมูกยางแดงหรือกระบอกฉีดยาเข้ารูจมูกข้างที่จะล้าง ลึกประมาณ 1 เซนติเมตร บีบน้ำเกลือเข้ารูจมูกช้าๆ  พร้อมกลั้นหายใจขณะบีบน้ำเกลือ ทำเช่นนี้ซ้ำหลายๆครั้งโดยพยายามหมุนปลายลูกยางแดงหรือกระบอกฉีดยาให้ล้างได้ ทั่วโพรงจมูก การบีบน้ำเกลือเข้าจมูกไม่จำเป็นต้องใช้แรงมากให้บีบพอที่น้ำเกลือจะเข้าไปได้ทั่วโพรงจมูก

7. สังเกตสีของน้ำที่สวนล้างออกมาจนใสจึงหยุดล้าง

8. ไม่ควรกลืนน้ำเกลือเข้าไป แต่หากเผลอกลืนเข้าไปก็ไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆ

9. หลังล้างจมูกทั้ง 2 ข้างเสร็จให้สั่งน้ำมูกเบาๆ

10. หากมียาพ่นจมูกให้พ่นหลังล้างจมูกเสร็จแล้ว

11. ควรล้างจมูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น และอาจเพิ่มจำนวนครั้งของการล้างได้ ถ้ามีน้ำมูกคั่งในจมูกหรือมีอาการ

คัดจมูกมาก

ขั้นตอนการล้างจมูกสำหรับเด็ก

1. เทน้ำเกลือใส่ถ้วยหรือแก้วที่เตรียมไว้ ใช้กระบอกฉีดยา หรือ ลูกยางดูดน้ำเกลือจนเต็ม

2. ในเด็กเล็กให้นอนในท่าศีรษะสูงเพื่อป้องกันการสำลัก ในเด็กที่สั่งน้ำมูกเองได้ให้เด็กนั่งหรือยืนแหงนหน้าเล็กน้อย ถ้ากลัวเด็กสำลักอาจให้ก้มหน้า สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกให้ปลายกระบอกฉีดชิดด้านบนรูจมูกค่อยๆ ฉีด น้ำเกลือ ครั้งละประมาณ 0.5-1 ซีซี

3. ในเด็กโตให้ก้มหน้าเล็กน้อย เอนศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่งเล็กน้อย กลั้นหายใจ หรือหายใจทางปากเพื่อป้องกันการสำลักฉีดน้ำเกลือครั้งละ ประมาณ 5-10 ซีซี เข้าไปในรูจมูกด้านบน

4. ใช้ลูกยางดูดน้ำมูกในจมูกออก หรือให้เด็กสั่งน้ำมูกออก

5. ทำซ้ำหลายๆ ครั้งในรูจมูกแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูก

 

ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์