ยาปฏิชีวนะ   หมายถึงยาที่ใช้ฆ่าหรือชลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย มีหลายกลุ่ม ได้แก่

1.  ยากลุ่ม Penicillin ( เพนนิซิลลิน )ได้แก่

     1.1.  ยากิน ได้แก่ Penicillin V , Amoxicillin , Cloxacillin , Dicloxacillin

     1.2.  ยาฉีด ได้แก่ Penicillin G , Ampicillin  , Benzathine Penicillin

มีหลายชนิดเป็นสูตรผสมเพื่อให้ฆ่าเชื้อที่ดื้อยาได้ เช่น Amoxy – Clavulanic ใช้รักษาการติดเชื้อได้ตั้งแต่ ทางเดินหายใจ , หนองใน , ทางเดินปัสสาวะ  , ผิวหนัง , ปอด จนถึง สมอง ฯลฯ เป็นยาที่ใช้กันทั่วไป และมีสถิติการแพ้ยาสูง

2.  ยากลุ่ม Carbapenem ( คาบาพีเนม) ได้แก่ Imipenem , Meropenem ใช้รักษาการติดเชื้อในปอด , ช่องท้อง , กระดูกและข้อ ฯลฯ มีเฉพาะยาฉีด มักใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น

3.  ยากลุ่ม Cephalosporin ( เซฟฟาโลสปอริน )ได้แก่

     3.1.  Cephalosporin รุ่นที่ 1ได้แก่ Cephalexin , Cefazolin , Cefaclor

     3.2.  Cephalosporin รุ่นที่ 2ได้แก่  Cefuroxime , Cefprozil , Cefoxitin , Cefamandol

     3.3.  Cephalosporin รุ่นที่ 3ได้แก่ Cefotaxime , Ceftriaxone , Ceftazidime , Cefdinir ,  Cefoperazone , Ceftibuten  , Cefixime , Cefditoren

     3.4.  Cephalosporin รุ่นที่ 4ได้แก่ Cefepime , Cefpirome

ใช้รักษาการติดเชื้อได้กว้างขวางเช่นเดียวกับกลุ่ม Penicillin คนที่แพ้ยา Penicillin ควรระวังการแพ้ยาในกลุ่มนี้

4.  ยากลุ่ม Macrolide ( แมคโครไลด์ )ได้แก่ Roxithromycin ,  Clarithromycin , Azithromycin , Medicamycin ส่วนมากใช้รักษาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ใช้ในคนไข้ที่แพ้ยากลุ่ม Penicillin

5.  ยากลุ่ม Fluoroquinolone ( ฟลูโอโรควิโนโลน 

ได้แก่ Norfloxacin , Ofloxacin , Ciprofloxacin , Levofloxacin , Moxifloxacin ใช้รักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือ ระบบทางเดินหายใจ

6.  ยากลุ่ม Sulfonamide ( ซัลโฟนามายน์ – ซัลฟา )ได้แก่ Sulfadiazine , Sulfasalazin , Co-trimoxazole ใช้ฆ่าเชื้อได้ครอบคลุมเชื้อหลายชนิด

7.  ยากลุ่ม Tetracycline ( เตตร้าซัยคลิน )ได้แก่ Tetracycline , Doxycycline , Minocycline , Oxytetracycline ส่วนมากใช้รักษาการอักเสบที่ผิวหนัง

8.  ยากลุ่ม Chloramphenicol  ( คลอแรมเฟนนิคอล ) ปัจจุบันมีเฉพาะยาหยอดตา , หยอดหู

9.  ยากลุ่ม Aminoglycoside ( อะมิโนกลัยโคซายด์ )ได้แก่ Amikacin , Gentamycin , Streptomycin , Kanamycin มีใช้เฉพาะยาฉีด , ยาทาภายนอก ใช้ฆ่าเชื้อได้ครอบคลุมเชื้อหลายชนิด

 10.  ยากลุ่ม Lincosamide ( ลินโคซามายด์ )ได้แก่ Lincomycin ,  Clindamycin

 11.  ยากลุ่ม Polypeptide ( โพลีเปปไตด์ ) ได้แก่ Bacitracin , Colistin , Polymyxin B

 12.  ยากลุ่ม Glycopeptides ( ไกลโคเปปไทด์ ) ได้แก่ Vancomycin , Bleomycin

 13.  ยาอื่นๆ ได้แก่ Metronidazole

ผู้ป่วยที่เป็นหวัดไม่จำเป็นจะต้องได้รับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเสมอไป

โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่จำเป็นต้องได้รับยาต้านจุลชีพมี 3 ชนิด คือ

1. โรคคอหอยอักเสบจากเชื้อ group A streptococci (group A streptococcal pharyngitis)ในผู้ใหญ่ถ้ามีอาการ  3 ใน 4  ข้อดังนี้ ควรได้รับยาปฏิชีวนะ คือ

  • มีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • ไม่ไอ
  • ต่อมน้ำเหลืองหน้าขากรรไกรบวมโต
  • ต่อมทอนซิลบวมหรือมีตุ่มหนอง

2.  โรคไซนัสและเยื่อบุในจมูกอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (bacterial rhinosinusitis)

3.  โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media) ในผู้ป่วยที่

  • มีไข้มากกว่าหรือเท่ากับ 39 องศาเซลเซียส หรือ ปวดหูมาก
  • มีไข้น้อยกว่า 39 องศาเซลเซียส และ ปวดหูน้อย แต่อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6 เดือน
  • มีไข้น้อยกว่า 39 องศาเซลเซียส และ ปวดหูน้อย แต่อายุมากกว่า 6 เดือน ร่วมกับการสังเกตอาการแล้วนาน 48-72 ชั่วโมง แต่อาการยังไม่ดีขึ้น

 สำหรับโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านจุลชีพมี 4 ชนิด คือ

1.  โรคคอหอยอักเสบจากเชื้อไวรัส (viral pharyngitis)

2.  โรคไซนัสและเยื่อบุในจมูกอักเสบจากเชื้อไวรัส (viral rhinosinusitis)

3.  โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media) ในผู้ป่วยที่มีไข้น้อยกว่า 39 องศาเซลเซียส และปวดหูน้อย แต่อายุมากกว่า 6 เดือน

4.  โรคหวัด (common cold)

ทำไมจึงไม่ควรกินยาพร่ำเพรื่อ

ยาปฏิชีวนะแม้จะมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน ตามแต่โรค , ชนิดของเชื้อ  , สภาพร่างกายของคนไข้  แต่การกินยาพร่ำเพรื่อ การกินยาเกินความจำเป็น การกินยาไม่ตรงกับโรค และ การกินยาไม่ครบคอร์ส ทำให้เกิดการดื้อยาได้  ซึ่งหมายความว่า “ มีคนไข้จำนวนหนึ่งที่เสียชีวิตเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต “ เพราะไม่มียาตัวใดเลยที่สามารถฆ่าเชื้อนั้นได้  ดังนั้นจึงไม่ควรหาซื้อยาเหล่านี้กินเองโดยไม่หรือไม่ปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร

การแพ้ยาปฏิชีวนะเป็นอย่างไร

ยาปฏิชีวนะเป็นยาที่มีอุบัติการณ์แพ้ยาสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มยาเพนนิซิลลิน และกลุ่มซัลฟา  อาการแพ้มีตั้งแต่ ลมพิษ ผื่นคันตามตัว แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หอบ ใจสั่น หน้ามืด บางคนอาจเกิดอาการช็อคได้  เสียชีวิตได้  ถ้าท่านแพ้ยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่ม โอกาสที่ท่านจะแพ้ยาอื่นในกลุ่มเดียวกันมีสูงมาก บางครั้งยังมีโอกาสแพ้ข้ามกลุ่มอีกด้วย  ดังนั้นถ้าท่านมีประวัติแพ้ยาตัวใดก็ตาม ท่านควรพกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้เสมอ และ โปรดแจ้งประวัติแพ้ยาแก่เภสัชกร , แพทย์ , พยาบาล ทุกครั้งที่ท่านต้องรับยา ไม่ว่าจะเป็นยาฉีดหรือยากิน

ข้อสำคัญ “ อย่าจดจำสีของเม็ดยา ” เนื่องจากยาชนิดเดียวกันอาจอยู่ในแคปซูลคนละสี หรือ ยาสีเดียวกันอาจเป็นยาคนละชนิดก็ได้  ขึ้นกับบริษัทผู้ผลิตยานั้นๆดังนั้นจึงไม่ควรจดจำยาจากสีแคปซูลอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักชื่อยาด้วย โดยเฉพาะยาตัวที่เคยแพ้

ยาปฏิชีวนะต่างจากยาแก้อักเสบอย่างไร

ยาอักเสบที่เรียกขานกันโดยทั่วไป อาจหมายถึงยาปฏิชีวนะ แต่ยังมียาแก้อักเสบอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ ยาแก้อักเสบ – ลดบวม ”  ใช้รักษา บรรเทาอาการ ปวด  บวม แดง ร้อน เช่น ปวดตามกระดูก ข้อ หรือ กล้ามเนื้อ ได้แก่ยา Diclofenac , Piroxicam , Indomethacin , Ibuprofen , meloxicam , Celecoxib ฯลฯ  ยากลุ่มนี้มีอุบัติการณ์แพ้ยาสูงเช่นเดียวกัน อาการข้างเคียงที่สำคัญของยาในกลุ่มนี้คือ การระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงควรรับประทานยากลุ่มนี้หลังอาหารทันที  การเรียกสั้นๆว่ายาแก้อักเสบ อาจทำให้เข้าใจผิดระหว่างยา 2 กลุ่มนี้ได้



 

 

ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์