ครอบครัวฉันมีคนหลายรุ่นอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ตั้งแต่รุ่นแข่งกับเต่าคลานเตาะแตะ รุ่นจ๊าบ  หนุ่มสาว ขึ้นคาน กลางคน จนถึงรุ่นปู่ตาย่ายาย เวลาป่วยไข้ไม่สบาย ภาระการจัดเตรียมหยูกยาตกมาอยู่ที่ฉันตลอด ยิ่งยาโรคเรื้อรังของป้าๆ ขึ้นไปนี่สิแย่ สร้างความปวดหัวให้ไม่ใช่น้อย เพราะมีทั้งยาเม็ดหลากแบบหลายสี ยาทา ยาพ่น ยิ่งยาน้ำของเจ้าตัวเล็ก ต้องผสมน้ำก่อนใช้…ผสมแล้วต้องเก็บตู้เย็นด้วย  เอ!! ทำไมหมอไม่ให้ยาน้ำพร้อมใช้มาเลย สะดวกดีกว่ากันเยอะ ยิ่งยาฉีดเบาหวานนี่ กี่ปี่มาแล้วหนอที่คุณป้าฉันไม่กล้าใช้เข็มจิ้มตัวเอง ป้าบอกมันเสียว ต้องคอยให้ฉันเป็นมือประหารแทงเข็มยาให้ตลอด แรกๆฉันก็กล้าๆกลัวๆ หลับหูหลับตาฉีด ดีนะไม่จิ้มมือตัวเอง ลุงข้างบ้านฉันก็เป็นเบาหวานเห็นแกกินแต่ยา ไม่ต้องฉีดเลยนี่ แล้วทำไมป้าฉันไม่ใช้ยากินบ้างนะ ฉันจะได้ปลดระวางจากตำแหน่งมือสังหารเสียที

ทำไมยาในโลกนี้ต้องมีหลากหลายรูปแบบหนอ ใครช่วยบอกฉันที

          มีข้อฉงนสงสัยมากมายเกิดขึ้นเวลาที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้ยา หนึ่งในความสงสัยนั้นคือ ทำไมคนหนึ่งกินยา แต่อีกคนหนึ่งกลับต้องฉีดยา ทำไมยาต้องมีหลายแบบทั้งสีสัน รสชาติ รูปลักษณ์ต่างๆ  เป็นต้นว่า….

๐   ยาเม็ด มีทั้งเม็ดกลม แบน รี บ้างก็เคลือบผิวเป็นมันเหมือนลูกอมเม็ดช็อกโกแลต บ้างก็เป็นแคปซูล  ขณะที่บางชนิดกลืนลงกระเพาะ แต่บางชนิดใช้อมใต้ลิ้น บ้างก็อมในกระพุ้งแก้ม และอีกหลากหลายรูปแบบ

๐   ยาน้ำ มีทั้งน้ำใส น้ำข้น บางชนิดเป็นผงแห้งต้องละลายน้ำก่อนใช้

๐   ยาภายนอก มีทั้งยาทา ยาเหน็บ ยาหยอด ยาป้าย ยาพ่น บ้างก็เหลว บ้างก็เหนียวข้น บางอย่างก็เป็นผง

๐   ยาฉีด มีทั้งชนิดน้ำ ชนิดผง บ้างก็ฉีดแขน ขา สะโพก ฉีดเข้าเส้นเลือด หรือกล้ามเนื้อ เป็นต้น


เหตุผลที่ต้องผลิตยาให้มีหลากหลายรูปแบบ    ก็เพื่อ..

1. ให้ได้รับยาที่มีขนาดยาถูกต้องและสม่ำเสมอ  เพราะยาแต่ละชนิดที่ผลิตออกมาต้องมีขนาดยาสม่ำเสมอ  เช่น ยาพาราเซตามอล  มีตัวยา  500 มิลลิกรัม  ใน 1 เม็ด  ยาพ่นแก้การจับหืด มีตัวยาสม่ำเสมอในแต่ละครั้งที่พ่น

2. เพื่อให้ผู้ป่วยหรือสัตว์ที่ป่วยได้รับรูปแบบยาที่เหมาะสมกับลักษณะอาการที่เกิดขึ้น  เช่น  ยาฉีดเข้าเส้นเลือด สำหรับผู้ป่วยที่อาการหนัก  เพราะต้องการฤทธิ์ยาที่รวดเร็ว   หรือยาพ่นเข้าทางเดินหายใจ  เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ที่อวัยวะเป้าหมาย  เช่น ยาพ่นขยายหลอดลม   เป็นต้น

3. เพื่อให้ยามีช่วงระยะเวลาการออกฤทธิ์ครอบคลุมกับการรักษา  ได้นานเพียงพอ   เช่น  ยาเม็ดรักษาโรคหัวใจชนิดออกฤทธิ์เนิ่นนาน  ช่วยควบคุมอาการได้ยาวนาน   ยาเม็ดรักษาโรคเบาหวาน ที่รับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง  เป็นต้น

4. เพื่อช่วยเพิ่มความคงตัวและชะลอการเสื่อมของยา   เนื่องจากผงยาบางชนิดหากทำเป็นรูปสารละลาย  เช่น เป็นยาน้ำ  ยาจะเสื่อมสลายเร็ว จึงต้องทำเป็นยาเม็ด หรือยาบางอย่างจะถูกกรดในกระเพาะอาหารทำลาย   จึงต้องทำในรูปแบบที่ทนต่อกรด  เพื่อให้ยาสามารถเดินทางไปที่ลำไส้เล็ก  ซึ่งมีสภาพเป็นด่างที่ไม่ทำลายยา  ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้หรือ ทำเป็นยาฉีด  ยาทาภายนอกแทน   เป็นต้น

5. เพื่อกลบกลิ่นและรสชาติที่ไม่ดีของยา  ยารับประทานที่มีรสขมมาก  เฝื่อน  ฯลฯ   ก็ต้องแต่งกลิ่น  รส  หรือหาวิธีการกลบ เช่น  เคลือบน้ำตาลหรือเคลือบฟิล์ม  หรือบรรจุลงแคปซูล   หากเป็นยาน้ำเด็ก  ก็ใช้รสหวาน ช่วย เป็นต้น


ถ้าเช่นนั้น  ยามีรูปแบบใดบ้าง 

รูปแบบยาส่วนใหญ่มี 3 รูปแบบ แต่ละอย่างจะแบ่งย่อยลงไปอีก   ที่พบเห็นบ่อยๆ   ได้แก่

1. รูปแบบของแข็ง ได้แก่ ยาผง ยาเม็ด ยาแค็ปซูล และ Pellet

2. รูปแบบของเหลว ได้แก่ ยาน้ำใส ยาน้ำเชื่อม ยาทิงเจอร์ ยาน้ำแขวนตะกอน และอีมัลชั่น

3. รูปแบบอื่นๆ เช่น ขี้ผึ้ง ครีม ยาเพสต์ ยาพ่น ยาเหน็บ ยาเจล   ยาฉีด และยาดม


ยาผง  ( Powders)   

เป็นยาที่เตรียมอย่างง่ายๆด้วยการนำส่วนของพืชที่จะใช้มาตาก ให้แห้ง แล้วนำมาบดเป็นผง หรืออาจเตรียมได้จากการสังเคราะห์สารเคมีแล้วนำมาผสมกับสารบางชนิด   วิธีใช้อาจใช้ผสมกับน้ำหรือในสัตว์อาจใช้ในรูป  Premix ผสมกับอาหารก็ได้    รูปแบบยาผง  ได้แก่  ยารับประทาน   เช่น  เกลือแร่  ( ORS ) , ยาฆ่าเชื้อแก้อักเสบสำหรับเด็ก   ยาฉีด  เช่น  Ampicillin , Cefazolin , Cloxacillin   เป็นต้น  ยาภายนอก  เช่น  ผงโรยแผล  เหตุผลการทำเป็นยาผง :  เพื่อให้ยาคงทน  เพราะถ้ามีความชื้น ยาจะเสื่อมสภาพเร็ว  ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลง   ลักษณะยาผงที่เสื่อมคุณภาพ คือ  ผงยามีสีเปลี่ยนไป    หรือผงยาชื้น เกาะหรือรวมตัวเป็นก้อน  เป็นต้น


ยาเม็ด (Tablets)  

เป็นการนำยาที่เป็นผงแห้งมาผสมกับสารเคมีต่างๆ แล้วนำไปผ่านกระบวนการในการผลิต  ตอกอัดออกมาเป็นเม็ดยา  ข้อดี  ของยาเม็ด  คือต้นทุนต่ำส่งผลให้ราคาขายต่ำ, พกพาสะดวก, รับประทานง่าย  ได้ขนาดยาที่ถูกต้องแน่นอน  เป็นต้น   เทคนิคการทำรูปแบบยาเม็ดมีหลายวิธี  ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการใช้ยา  เช่น

1. ยาเม็ดเคลือบสาร  โดยสารที่ใช้เคลือบสารที่ Inert   ไม่ละลายในกระเพาะอาหารหรือเคลือบด้วยน้ำตาล   ตัวอย่างยาเม็ดเคลือบ เช่น Diclofenac tablets, Multivitamin coat tablets เป็นต้น

2. ยาเม็ดตอกอัดเป็นชั้นๆ   เพื่อควบคุมการปลดปล่อยตัวยาออกมาสม่ำเสมอ   ทำให้ควบคุมอาการของโรคได้เป็นเวลานาน    ลักษณะยาเม็ดที่เสื่อมคุณภาพ คือ เม็ดยามีสีกระดำกระด่าง   แตกกร่อน  บวมชื้น  เป็นตัน


ยาแค็ปซูล (Capsuls) เป็นยาที่ตัวยาถูกหุ้มด้วยเปลือกแค็ปซูลที่ทำจากเจลลาติน มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ  แค็ปซูลแบบแข็งและแบบนิ่ม  จุดประสงค์เพื่อช่วยกลบรสชาติและกลิ่นที่ไม่ดีของยา เช่น Dicloxacillin  หรือเพื่อบรรจุยาที่ละลายในน้ำมันที่รับประทานยาก  เช่น น้ำมันตับปลา   เป็นต้น


ยาเม็ดเพลเลต ( Pellet )  เม็ดกลมขนาดประมาณ 200 ไมโครเมตร - 2 มิลลิเมตร มีทั้งรูปแบบโดยตรง  หรือนำเพลเลตมาเคลือบ ตอกเป็นเม็ด  หรือบรรจุในแคปซูล  เพื่อให้ตัวยาปลดปล่อยออกมาช้าๆ เช่น  Omeprazole ,  Nexium  เป็นต้น ลักษณะยาที่เสื่อมคุณภาพ คือ   แคปซูลบวมพอง   มีเชื้อราขึ้นบนเปลือกแค็ปซูล


ยาน้ำใส  (Solusions) ประกอบด้วยสารอย่างน้อยหนึ่งชนิดละลายเป็นเนื้อเดียวกันโดยปราศจาก ตะกอน ตัวยากระจายทั่ว เช่น ยาหยอดตา เป็นต้น ลักษณะของยาที่เสื่อมคุณภาพ  คือ  มีสี รส  หรือกลิ่นเปลี่ยนไป


ยาน้ำเชื่อม (Syrups) เป็นรูปแบบของยาที่มีน้ำตาลละลายอยู่ในตัวยา เช่น ยาแก้ไอน้ำเชื่อม ทำให้กลบรสขม ตัวยาที่สลายตัวในน้ำได้ง่ายเช่น ยากลุ่ม Pennicillns จะทำในรูปแบบน้ำเชื่อมแห้ง เวลาใช้ต้องผสมน้ำตามต้องการแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น   ลักษณะของยาที่เสื่อมคุณภาพ  คือ มีลักษณะขุ่น เกิดตะกอน  เปลี่ยนสี เป็นต้น


ยาทิงเจอร์ (Tinctures)  เตรียมได้จากสารสกัดสมุนไพร โดยใช้ตัวสกัดเป็นแอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์ผมน้ำ หรือเตรียมได้จากสารละลายเคมีในแอลกอฮอล์ผสมน้ำ เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน  ลักษณะของยาที่เสื่อมคุณภาพ    มีสีหรือกลิ่นเปลี่ยนไป  เป็นต้น


ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspensions) เป็นรูปแบบของยาที่ตัวยาเป็นของแข็งชนิดไม่ละลายน้ำ กระจายหรือแขวนลอย อยู่ในน้ำกระสายยา มีลักษณะขุ่น เมื่อตั้งทิ้งไว้ จะตกตะกอน ดังนั้นก่อนใช้ยาต้องเขย่าขวดทุกครั้ง เช่น ยาธาตุน้ำแดง ยาธาตุน้ำขาว  ลักษณะของยาที่เสื่อมคุณภาพ  :  ตะกอนของยาจับตัวกันแข็งและเมื่อเขย่าแรงๆก็ไม่ค่อยละลาย เป็นต้น


ยาอิมัลชั่น (Emulsions).. เป็นรูปแบบยาน้ำกระจายตัวที่ประกอบด้วยของเหลว 2 ชนิดที่ผสมเข้ากันไม่ได้ ได้แก่ น้ำกับน้ำมัน เช่น น้ำมันตับปลา สก๊อตอิมัลชั่น ยาระบาย ELP, MOM.   เป็นต้น  ลักษณะของยาที่เสื่อมคุณภาพ  ยาจะแยกออกเป็น 2 ส่วนคือน้ำกับน้ำมัน และเมื่อเขย่าขวดแล้วจะไม่เข้ากัน เป็นต้น  ประกอบด้วยสารอย่างน้อยหนึ่งชนิดละลายเป็นเนื้อเดียวกันโดยปราศจาก ตะกอน ตัวยากระจายทั่ว เช่น ยาหยอดตา เป็นต้น ลักษณะของยาที่เสื่อมคุณภาพ  คือ  มีสี รส  หรือกลิ่นเปลี่ยนไป 


ขี้ผึ้ง (Ointment) ..เป็นรูปแบบยากึ่งแข็งที่ใช้เฉพาะที่หรือใช้ภายนอก ลักษณะเหนียวจึงติดผิวหนังได้นาน ช่วยปกป้องผิวหนังให้อ่อนนุ่ม โดยจะเหลือส่วน ของ Oil บนผิวหนังได้นานกว่าครีม เช่น ยาหม่อง   Methyl salicylate Ointment , ยาป้ายตา ( eye ointment )


ครีม (Cream) ..เป็นรูปแบบยาอิมัลชั่นกึ่งแข็ง มีลักษณะขุ่นขาว อ่อนนุ่ม ล้างออกง่าย เช่น Cold cream เป็นต้น ลักษณะของยาที่เสื่อมคุณภาพ  :  ยาแยกชั้นไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อครีมเปลี่ยนสี หรือมีกลิ่นหืน เป็นต้น


โลชั่น ( Lotion ) เป็นของเหลวมีทั้งชนิดใส  และชนิดข้นคล้ายครีมแต่เหลวกว่ามาก  เช่น โลชั่นเช็ดกระชับผิวหน้า  โลชั่นทาผิวกาย


ยาเพสต์ (Pastes)..เป็นรูปแบบยากึ่งแข็งที่ประกอบด้วยตัวยามากกว่า 50% เนื้อยาจึงมีลักษณะเหนียว แข็ง ดูดน้ำได้มาก เกาะติดผิวหนังได้ดี เช่น  Zinc Oxide Paste USP 28


 ยาพ่น  ..เป็นรูปแบบยาที่ออกแบบให้ส่งยาเข้าไปในทางเดินหายใจ  โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Nebulizers, Metered dose inhalers (MDIs) หรือ Aerosols Inhalations ยาอาจอยู่ในรูปผงยา, Solutions หรือ Suspensions  เช่น  Salbutamol inh, Beclomethasone inh, Iliadin nose spray


ยาเหน็บ (Suppositories) ..เป็นรูปแบบยาที่ใช้สอดเข้าช่องของร่างกาย เช่น ช่องคลอด ช่องทวารหนัก ให้ตัวยาละลายออกมา ใช้รักษาทั้งบริเวณเฉพาะที่และดูดซึมเข้าเส้นเลือด อาจอยู่ในรูปที่หลอมละลายเมื่อเข้าสู่ร่างกาย เช่น Proctosedyl® (เหน็บทวารหนัก )  หรืออยู่ในรูปยาเม็ด เช่น Canesten® ( เหน็บช่องคลอด)


ยาเจล (Gels,Jelly) ..เป็นยากึ่งแข็งวัฏภาคเดียว ประกอบด้วยสารอินทรีย์โมเลกุลขนาดใหญ่กระจายตัวอยู่ในของเหลวอย่างสม่ำเสมอจนเป็นเนื้อเดียวกัน มีลักษณะข้นเหนียว ใส ไม่เป็นมัน ล้างออกง่าย ใช้เป็นยาใช้ภายนอก  เช่น Aromatic Gel เป็นต้น


ยาดม (Inhalers) ..เป็นรูปแบบยาที่ตัวยามีความดันไอสูงพอที่จะระเหยเข้าทางจมูก โดยใช้บรรจุภัณฑ์ที่เรียกว่า Inhalers บรรจุในภาชนะรูปทรงกระบอก โดยมีสารใยดูดซับตัวยาไว้  เช่น ยาดม


ยาฉีด (Perenteral dosage forms) ..เป็นรูปแบบยาที่ปราศจากเชื้อ (Sterile Products) และต้องมีคุณสมบัติตามกำหนดคือ ผ่านการฆ่าเชื้อ(Sterility) ไม่มีเศษผง (Particular matter) และปราศจากสารพิษจากเชื้อจุลินทรีย์  (Pyrogen free)   มีทั้งรูปแบบสารละลาย  และชนิดผงแห้ง ที่ต้องละลายก่อนใช้ , บางชนิดต้องเก็บในตู้เย็น


หนทาง ( Route ) นำยาฉีดเข้าสู่ร่างกายมีหลายวิธี ขึ้นกับชนิดยา  การออกฤทธิ์  เช่น ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ  ไขสันหลัง  ผิวหนังชั้นตื้น  ผิวหนังชั้นลึก  เข้าเส้นเลือดดำ  เป็นต้น


ขอบคุณสำหรับคำตอบเหล่านี้  ที่ช่วยให้ฉันเข้าใจแล้วว่าทำไมแต่ละคน ต้องใช้ยารูปแบบที่ต่างกัน   ฉันจะดูแลการใช้ยาของทุกๆคนในครอบครัวเป็นอย่างดี โดยไม่คิดว่าเป็นภาระต่อไปแล้วจ้ะ

     

ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์