เมื่อเกิดภาวะความเจ็บป่วย  แต่ละคนมีวิธีบรรเทาหรือรักษาความเจ็บป่วยแตกต่างกันไป   แต่สิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเยียวยา บรรเทาหรือรักษาภาวะดังกล่าวที่ใกล้ตัวเราที่สุดก็คือ " ยา"

"ยา" จัดเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายรับเข้าไปในภาวะจำเป็นต้องใช้ จึงมีทั้งคุณและโทษ  เราจึงควรใส่ใจกับข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับยา แม้เพียงเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ แต่นั่นอาจหมายถึงคุณภาพและความปลอดภัยของชีวิต

คุณภาพของยาดูกันที่ไหน

เมื่อท่านซื้อนมกล่อง  ท่านสามารถดูทะเบียนอาหารได้จากป้าย อย. แต่ถ้าเป็นยา  ท่านสามารถดู "เลขทะเบียนยา" เช่น Reg.No.1 Axxx/xx   ได้จากกล่องบรรจุภัณฑ์  แต่ถ้าเป็นยาเม็ดที่แบ่งขายปลีก จะไม่สามารถเห็นทะเบียนยา  ดังนั้น จึงควรเลือกรับยาจากแหล่งที่มีเภสัชกรคอยคัดสรรยาดีมีคุณภาพให้แก่ท่าน ฝ่ายเภสัชกรรม  รพ.สำโรงการแพทย์  มีหลักปฏิบัติที่ดีในการคัดเลือกยา  ดังนี้

1.ยาทุกตัวมีทะเบียนยาถูกต้อง

2.มาจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานการผลิตที่ดี  ( GMP. = Good Manufacturing Practice )

3.ได้รับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัตถุดิบที่ใช้  และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเสร็จ

4.มีการตรวจการละลาย การแตกตัว  กรดด่าง  ความปราศจากเชื้อปนเปื้อน  การออกฤทธิ์ ในรายการยาที่  กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

5.มีการควบคุมอุณหภูมิ  ความชื้น  แสง  โดยจัดเก็บและส่งมอบด้วยภาชนะที่เหมาะสมจนถึงมือผู้ป่วย

6.มีระบบตรวจสอบดุแลวันหมดอายุของยาอย่างสม่ำเสมอ

7.มีระบบสอบกลับเลขหมายการผลิตของยาที่จ่ายให้ผู้ป่วย   สามารถตรวจสอบถึงแหล่งที่มาตลอดจนข้อมูลการผลิต

ดูให้ดีต้องดูที่ฉลากยา

ฉลากยามีอะไรดีๆให้ท่าน  มากกว่าที่คิด

1.ท่านต้องดูว่าชื่อคนไข้บนฉลากเป็นของท่านหรือไม่

2.ถ้าเป็นยาที่รับประทานประจำ  ลักษณะยาเหมือนเดิมหรือไม่ ขนาดรับประทานเท่าเดิมหรือไม่

3.จำนวนยาที่ได้  ครบถึงวันนัดครั้งหน้าหรือไม่

4.ใช้อย่างไร  รับประทาน / ทา / สอด  ครั้งละเท่าไร  วันละกี่ครั้ง

5.ถ้าลืมใช้ยา  โดยเฉพาะยารับประทาน / ยาฉีด  ควรทำอย่างไร

6.ถ้าเข้างานรอบดึก  จะรับประทาน / ฉีดยา อย่างไร

7.ถ้ารับประทานอาหารไม่ครบ 3 มื้อ   ต้องปรับขนาดยาหรือไม่

8.ต้องใช้ยาที่ได้รับมาจนหมดหรือไม่

9.ยานั้นใช้รักษาโรคอะไร

10.มีข้อควรระวังในการใช้ หรือผลข้างเคียงอะไรบ้าง   ต้องระวังอย่างไร

11.มีวิธีเก็บรักษาพิเศษหรือไม่

รับประทานยาตอนไหนดี

1.ยาทั่วไปมักระบุให้รับประทานหลังอาหาร  เพื่อความสะดวกของคนไข้

2.ยาหลังอาหาร  ถ้าไม่ระบุ  หมายถึงรับประทานหลังอาหารทันทีหรือไม่ก็ได้

3.ยาที่รับประทานหลังอาหารทันที  โดยมากเป็นยาที่ระคายกระเพาะอาหาร  ถ้าไม่สามารถรับประทานหลังอาหารทันที  ควรดื่มน้ำตามมากๆ   ยกเว้น กรณีเป็นโรคไตซึ่งแพทย์ให้จำกัดน้ำ

4.ยาที่รับประทานก่อนอาหาร  เป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้ดีขณะท้องว่าง  และต้องเป็นยาที่ไม่ระคายกระเพาะอาหาร

ถ้าไม่ระบุ ให้หมายถึงก่อนอาหาร ครึ่งชั่วโมง

5.ถ้ารับประทานทุก……..ชั่วโมง  หมายถึงรับประทานตามนาฬิกา  สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

6.ยารับประทานพร้อมอาหาร  หมายถึงให้รับประทานพร้อมอาหารคำแรก

7.ยาอมใต้ลิ้น   เป็นยาที่ต้องการฤทธิ์ยาที่รวดเร็ว  โดยดูดซึมผ่านเส้นเลือดใต้โคนลิ้น  เช่น ยาอมโรคหัวใจ  จึงต้องอม

ให้ยาอยู่ใต้โคนลิ้น

8.ยาอมในปาก  ชนิดที่ดูดซึมผ่านกระพุ้งแก้ม   สามารถอมในช่องปาก  ช่น ยาแก้ปวดบางชนิด

9.ยาบางชนิดต้องรับประทานให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ  เพื่อป้องกันเชื้อโรคดื้อยา    เช่น  ยาต้านไวรัสบางชนิด

10.ยาปฎิชีวนะ   เป็นยาฆ่าเชื้อโรค   จึงต้องรับประทานต่อเนื่องจนหมด   เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา

ยาตีกัน  (Drug-Drug Interaction )

ยาตีกับอาหาร ( Drug-Food Interaction )

น้อยคนที่จะทราบว่ายาสามารถตีกันเอง  หรือตีกับอาหาร  อาหารเสริม วิตะมิน และสมุนไพรที่รับประทานได้

“ ยาตีกัน”  หมายถึงยาที่รับประทานเข้าไปแล้วไปมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาตัวอื่นที่รับประทานด้วยกัน ผลจากการตีกัน เกิดอะไรได้บ้าง

1.ยามีฤทธิ์ลดลง  ทำให้ไม่ได้ผลการรักษาหรือได้ผลน้อย

2.เสริมฤทธิ์การรักษา  กรณีแพทย์ต้องการทำให้ผลการรักษาดีขึ้น  แต่ถ้าท่านใช้ยาเองโดยไม่ทราบว่าเสริมฤทธิ์กัน ก็อาจทำให้ควบคุมผลการรักษาได้ยากขึ้น

3.เสริมฤทธิ์กันจนเกิดพิษ  เหมือนรับประทานยาเกินขนาด

4.ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเพิ่มขึ้น

5.เกิดสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย

ตัวอย่างการตีกันของยากับยา / ยากับอาหาร  ที่อาจส่งผลเสีย

  • รับประทานยาปรับการทำงานของลำไส้ Cisapride กับยาปฏิชีวนะ Erythromycin  ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • รับประทานนมหรือยาลดกรด  กับยาปฏิชีวนะ  Tetracycline ทำให้ฤทธิ์การรักษาของ Tetracycline  ลดลง
  • รับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์  ( NSAIDs )  กับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ( Warfarin )    อาจทำให้เกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุด
  • การดื่มน้ำผลไม้พร้อมกับยารักษาแผลกระเพาะอาหาร  Omeprazole  ทำให้ฤทธิ์ของ Omeprazole   ลดลง
  • การรับประทานผักใบเขียวจำนวนมาก วิตะมินเคในผักมีผลต่อยาต้านการแข็งตัวของเลือด Warfarin ส่งผลต่อแผนการรักษา และการปรับขนาดยา Warfarin  ที่เหมาะสม
  • รับประทานน้ำมันปลา  กับยาต้านการแข็งตัวของเลือด Warfarin  อาจเกิดภาวะเลือดออกได้

ถ้าเช่นนั้นควรทำอย่างไรดี

  • ควรอ่านฉลากยาให้ละเอียด
  • ควรรับประทานยากับน้ำเปล่า  ไม่รับประทานยากับกาแฟ นม หรือน้ำผลไม้
  • หากมีข้อสงสัยให้จดชื่อยา  หรือนำยาที่ใช้อยู่ทั้งหมดมาให้เภสัชกรตรวจสอบ

 

 ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์