หมายถึง สารที่ใช้ในการตรวจทางรังสีวิทยา เพื่อให้เกิดความแตกต่างในการดูดกลืนรังสีระหว่างอวัยวะที่ต้องการตรวจกับอวัยวะหรือโครงสร้างอื่นที่อยู่ใกล้เคียง เป็นผลให้เห็นอวัยวะที่ต้องการตรวจได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งสามารถนำเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การรับประทาน , การสวนเข้าทางทวารหนัก และฉีดเข้าหลอดเลือด หรือเข้าช่องโพรงของร่างกาย

สารทึบรังสีชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด เป็นสารที่มีความจำเป็นในการแยกความแตกต่างของอวัยวะที่ต้องการตรวจกับอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ภาพจากการตรวจทางรังสีมีความชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นสารทึบรังสีจึงเข้ามามีบทบาทในการตรวจทางรังสีหลายชนิด ได้แก่ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ( CT ), การตรวจดูการทำงานของไต (Intravenous pyelography ), การถ่ายภาพรังสีหลอดเลือด ( Angiography / Venography ), การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ( MRI ) แต่เนื่องจากสารทึบรังสีอาจทำให้เกิดการแพ้หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อร่างกายจนถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งนับว่าเป็นการตรวจที่มีความเสี่ยงสูง และจากการศึกษาของ Katayama และคณะซึ่งได้รายงานไว้ใน Radiology 1990 พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับสารทึบรังสีชนิดแตกตัว ทั้งหมด 169,284 ราย มีปฏิกิริยาแพ้ 12.66 % และผู้ป่วยที่ได้รับสารทึบรังสีชนิดไม่แตกตัว ทั้งหมด 168,363 ราย มีปฏิกิริยาแพ้ 3.13 %
สำหรับการป้องกันความเสี่ยงจากการใช้สารทึบรังสีนั้นสามารถทำได้ทุกระยะ คือ ตั้งแต่ก่อน ขณะ และหลังการฉีดสารทึบรังสี หากพยาบาลและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารทึบรังสีเป็นอย่างดีแล้วผู้ป่วยก็จะได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ และปลอดภัย  

ภาวะแทรกซ้อนจากการแพ้สารทึบรังสี แบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ

1. ระดับเล็กน้อย (mild reaction) หมายถึง มีอาการเล็กน้อย เป็นอยู่ไม่นานและอาจไม่ต้องการการรักษาอะไร นอกจากคำแนะนำและการพูดคุยให้กำลังใจ ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน, ไอ จาม , มีผื่นขึ้น

2. ระดับปานกลาง (moderate reaction) หมายถึงอาการที่เป็นมากขึ้น และควรจะให้การรักษา ได้แก่ ผื่นลมพิษ , คลื่นไส้ อาเจียนมาก , ตาบวม หน้าบวม หรือมีอาการหลายอย่างร่วมกัน

3.ระดับรุนแรง (severe reaction ) หมายถึง อาการที่เป็นรุนแรงมาก จนอาจถึงแก่ชีวิต จำเป็นต้องให้การรักษาโดยรีบด่วนที่สุด เช่น หายใจขัด, เสียงแหบ , หายใจมีเสียงวี๊ด,เหนื่อยหอบ,ชัก หมดสติ

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น