การบาดเจ็บที่ศีรษะ หมายถึง การบาดเจ็บใดๆที่มีต่อหนังศีรษะ กะโหลกศีรษะและเนื้อเยื่อที่เป็นส่วนประกอบภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งอาจทำให้มีหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกตัว อุบัติการณ์เกิดหรือสถิติการเกิดบาดเจ็บที่ศีรษะบอกตัวเลขที่ชัดเจนได้ยาก เนื่องจากแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับคำว่าบาดเจ็บที่ศีรษะได้อธิบายไว้กว้างมาก มีความแตกต่างตามความรุนแรงและกลไกของการบาดเจ็บ แต่จากรายงานพบว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเนื่องจากบาดเจ็บที่ศีรษะในแต่ละประเทศมีเป็นจำนวนมาก สำหรับในประเทศไทยมีสถิติของแต่ละโรงพยาบาลเป็นจำนวนไม่น้อย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ 


สาเหตุของการเกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะ

สำหรับสาเหตุของการเกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะมีด้วยกันหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุจราจร ตกจากที่สูง ทำร้ายร่างกาย กีฬาและนันทนาการ ถูกยิง แรงกระแทกอื่นๆ

ข้อบ่งชี้ในการวินิจฉัยว่าน่าจะได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ 

1. มีประวัติบ่งชี้จากอุบัติเหตุว่าศีรษะถูกกระแทกแน่นอน

2. ตรวจพบมีบาดแผล หรือรอยช้ำในบริเวณศีรษะ

3. มีประวัติตรวจพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัว ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม


กลไกการเกิดบาดเจ็บที่ศีรษะ

กลไกการเกิดบาดเจ็บที่ศีรษะ แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ

1. การบาดเจ็บโดยตรง ( direct injury ) คือ บาดเจ็บที่เกิดบริเวณศีรษะโดยตรง มี 2 ชนิด คือ

1.1 บาดเจ็บที่เกิดขณะศีรษะอยู่นิ่ง ( static head injury ) คือ บาดเจ็บที่เกิดแก่ศีรษะขณะอยู่นิ่งหรือเคลื่อนไหวเล็กน้อย เช่น การถูกตี ถูกยิง เป็นต้น พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นจะเป็นพยาธิสภาพเฉพาะที่เท่านั้น แต่ถ้าถูกตีด้วยวัตถุใหญ่หรือวัตถุที่มีความเร็วสูง จะทำให้สมองเกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง

1.2 บาดเจ็บที่เกิดขณะศีรษะเคลื่อนที่ ( dynamic head injury ) คือ บาดเจ็บที่เกิดแก่ ศีรษะขณะที่ศีรษะมีความเร็วไปกระทบกับวัตถุที่อยู่นิ่งหรือกำลังเคลื่อนที่ เช่น ขับรถไปชนต้นไม้ ขับรถไปชนกับรถที่วิ่งสวนทาง เป็นต้น เมื่อศีรษะกระทบของแข็ง จะทำให้เกิดบาดเจ็บหรือพยาธิสภาพแก่สมองส่วนนั้นซึ่งมักมีการแตกร้าวของกะโหลกศีรษะร่วมด้วย ส่วนสมองด้านตรงข้ามกับบริเวณที่กระทบวัตถุนั้นอาจมีการฉีกขาดและมีเลือดออกร่วมด้วย

2.การบาดเจ็บโดยอ้อม ( indirect injury ) คือ การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับส่วนอื่นของร่างกาย แล้วมีผลสะท้อน ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะขึ้น เช่น ตกจากที่สูงก้นกระแทกพื้น ทำให้ศีรษะกระแทกลงมาบนส่วนของกระดูกคอ เป็นผลทำให้เกิดอันตรายต่อแกนสมองส่วนเมดัลลาโดยตรงหรือการเคลื่อนไหวของลำตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนศีรษะขาดการรองรับ เป็นผลให้ศีรษะคว่ำไปข้างหน้าหรือหงายไปด้านหลังอย่างรวดเร็ว ชนิดนี้ไม่มีบาดแผลที่หนังศีรษะและกะโหลกศีรษะ



อาการ

1. การบาดเจ็บอาจมีแผลเพียงเล็กน้อย หรือฟกช้ำที่หนังศีรษะ ซึ่งไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด

2. มีการบาดเจ็บรุนแรง จนมีความผิดปกติเกิดขึ้นในสมอง อาจแสดงอาการได้หลายลักษณะ ดังนี้

● สมองได้รับการกระทบกระเทือน ( brain concussion) ผู้ป่วยมักจะมีอาการหมดสติไปเพียงชั่วครู่ หรือบางรายอาจนานเป็นชั่วโมงๆแต่จะไม่เกิน 24 ชั่วโมง เมื่อฟื้นแล้วจะรู้สึกงุนงง จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ อาจเป็นเพียงชั่วขณะหรือเป็นวันอาจมีอาการปวดศีรษะ ซึ่งจะค่อยๆหายไปได้เองในที่สุด

● สมองฟกช้ำ ( brain contusion ) หรือสมองฉีกขาด ( brain laceration ) ผู้ป่วยจะหมดสติ หลังบาดเจ็บทันที บางรายอาจเกิดขึ้นหลังบาดเจ็บใน 24-48 ชั่วโมงอาจมีอาการอัมพาตครึ่งซีก กล้ามเนื้อแข็งเกร็งชักถ้ามีอาการรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่รุนแรงผู้ป่วยมักฟื้นคืนสติได้ แต่อาจมีอาการปวด ศีรษะสับสน เพ้อเอะอะ คลื่นไส้อาเจียน แขนขาเป็นอัมพาต ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ หลง ๆลืม ๆ หรือบุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม

● เลือดออกในสมอง ( intracranial hemorrhage) ถือว่าเป็นอาการร้ายแรง ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มักมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึมลงเรื่อยๆ แขนขาเป็นอัมพาต ตัวเกร็ง ชีพจรเต้นช้า หายใจตื้นขัด ความดันเลือดสูง คอแข็ง รูม่านตาสองข้างไม่เท่ากัน ในรายที่เป็นเฉียบพลัน มักมีอาการเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงบางรายอาจมีอาการเกิดขึ้นภายหลังได้รับบาดเจ็บ เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาจมีอาการปวดศีรษะ ซึ่งเป็นบ่อยและรุนแรงขึ้นทุกที คลื่นไส้อาเจียน ซึม บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ชักแบบโรคลมชัก ส่วนในทารก มักจะมีอาการร้องเสียงแหลม ซึม อาเจียน ชัก แขนขาอ่อนแรง กระหม่อมโป่งตึง


การประเมินความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะ

ต้องทำตั้งแต่ระยะแรกก่อนที่จะมีภาวะแทรกซ้อนจากการบาดเจ็บ โดยใช้แบบประเมินความรู้สึกตัวของกลาสโกล ( Glasgow coma scale )

1. การบาดเจ็บที่ศีรษะเล็กน้อย ( mild head injury )13-15 คะแนน ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ลืมตาได้เอง ทำตามสั่งและตอบคำถามได้ถูกต้องทันที หรือใช้เวลาเล็กน้อย หรือสับสนเป็นบางครั้ง

2. การบาดเจ็บที่ศีรษะปานกลาง ( moderate head injury) 9-12 คะแนน ความรู้สึกตัวลดลงและสับสน ตื่นเมื่อถูกปลุกหรือได้รับความเจ็บปวด ทำตามสั่งหรือตอบคำถามง่ายๆได้ ใช้เวลานานกว่าปกติ ในรายที่ความรู้สึกตัวลดลงมาก อาจเพียงเคลื่อนไหวหรือส่งเสียงไม่เป็นคำพูด

3. การบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ( severe head injury) 3-9 คะแนน รู้สึกตัวน้อยมาก ไม่สามารถทำตามสั่งใดๆ ทั้งสิ้น อยู่ในท่าที่ไม่ปกติหรือไม่ เคลื่อนไหวเลย



*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น



ผลการรักษาหลังการบาดเจ็บที่ศีรษะ

การหายของผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่าง ได้แก่ ความรุนแรงของการบาดเจ็บ อายุของผู้ป่วยขณะได้รับบาดเจ็บ และคุณภาพของการรักษาพยาบาล จากการศึกษาผลของการบาดเจ็บที่ศีรษะ ส่วนใหญ่ที่มีผู้รายงานได้อธิบายโดยอาศัยความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะขณะแรกรับที่แผนกฉุกเฉินดังนี้

1. ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะเล็กน้อย ( minor head injury ) ส่วนใหญ่เกือบทุกคนจะหายโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

2. ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะปานกลาง ( moderate head injury ) มักจะพบผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาการเป็นที่น่าพอใจ มีเพียงส่วนน้อยที่มีสติปัญญาลดลง เนื่องจากการทำลายของเซลล์สมองอย่างถาวร อาจ มีอาการปวดศีรษะตลอดเวลา ความจำลดลง มีปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน

3. ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ( Severe head injury ) จากการศึกษาของเจนเนตต์และคณะในปี คศ. 1981 พบอัตราตายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 50 และจากการติดตามผู้ป่วยที่รอดชีวิตในระยะ 6 เดือนหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ พบร้อยละ 20 มีความพิการอย่างรุนแรง ร้อยละ 40 มีความพิการปานกลางและร้อยละ 40 หายเป็นปกติ ( Jennett , et al., 1981 : P . 286 )

การดูแลเบื้องต้น 

1. หากมีเพียงแผลฟกช้ำ ประคบเย็นใน 24 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นประคบร้อน

2. ถ้ามีอาการบาดเจ็บรุนแรง มีประวัติหมดสติให้นำส่งโรงพยาบาลทันที

3. ควรยึดตรึงหลังผู้ป่วยให้แน่นขณะเคลื่อนย้าย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังเพิ่มขึ้น

4. กดบริเวณบาดแผลไว้ไม่ให้เลือดออก ใช้ผ้าสะอาดปิดแผลไว้ก่อน

5. เมื่อมีบาดแผลฉกรรจ์ที่ศีรษะ ควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายด้วยตนเอง ควรขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยที่มีความรู้เรื่องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

 

อาการที่ต้องมาพบแพทย์เมื่อกลับบ้าน

ถ้ามีอาการปวดศีรษะเล็กน้อยในระหว่างนี้ ให้รับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่ง ควรมีผู้ดูแลที่สามารถสังเกตอาการและเข้าใจวิธีปฏิบัติเพื่อคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และควรปลุกผู้ป่วยทุก 2-4 ชั่วโมง ภายใน 24 ชั่วโมงแรก เพื่อประเมินความรู้สึกตัวของผู้ป่วยว่าลดลงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยมีอาการตามข้อใดข้อหนึ่งที่บ่งบอกไว้ใน 11 ข้อนี้ ขอให้รีบกลับมาพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

1.ง่วงซึมมากขึ้น ปลุกตื่นยากหรือไม่รู้สึกตัว หมดสติ

2.กระสับกระส่าย การพูดผิดปกติ

3.ชักเกร็ง/กระตุก

4.แขนขาอ่อนแรงลง

5.ชีพจรเต้นช้าลงกว่าปกติหรือมีไข้สูง

6.มีคลื่นไส้ อาเจียนติดต่อกันหลายครั้ง

7.อาการปวดศีรษะที่รับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ทุเลา

8.มีน้ำใสหรือน้ำใสปนเลือด ออกจากหู จมูก หรือลงคอ (ไม่ควรสั่งน้ำมูก)

9.ปวดต้นคอ ก้มคอลำบาก คอแข็ง

10.เวียนศีรษะ ตาพร่า หรือเห็นภาพซ้อน หรือ ปวด ตุ๊บๆ ในลูกตา

11.อาการผิดปกติอื่นๆ ที่น่าสงสัยหรือพฤติกรรมผิดปกติ เช่น เอะอะโวยวาย เดินพล่าน