สาเหตุของโรคนิ่ว

เกิดจากหลากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม เมตตาบอลิซึม พันธุกรรม วิถีการดำเนินชีวิต และอุปนิสัยการกินอาหารของตัวผู้ป่วยเอง

นิ่วเกิดจาก “ สารก่อนิ่ว ” ที่มีอยู่ในปัสสาวะตามปกติ ได้แก่ แคลเซียม ฟอสเฟต ออกซาเลต ยูเรต ในภาวะที่มีปริมาณผิดปกติและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสารเหล่านี้สามารถรวมตัวกันจนกลายเป็นก้อนผลึกแข็งและมีขนาดใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นนิ่วอุดตันที่บริเวณต่างๆของทางเดินปัสสาวะองค์ประกอบส่วนใหญ่ในก้อนนิ่วเป็นผลึกแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต ยูเรต แมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต เป็นต้น นิ่วที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ นิ่วแคลเซียมฟอสเฟตประมาณร้อยละ 80 รองลงมาคือ นิ่วกรดยูริกพบประมาณร้อยละ 10-20

สำหรับสารที่ป้องกันการก่อผลึกในปัสสาวะเรียกว่า “สารยับยั้งนิ่ว” ที่สำคัญได้แก่ ซิเทรต โพแทสเซียม และแมกนีเซียม ปัจจัยเสี่ยงด้านความผิดปกติทางเมแทบอลิซึมที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนิ่วไตไทย คือ การมีสารยับยั้งนิ่วในปัสสาวะต่ำ ได้แก่ ภาวะซิเทรตในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 70-90 และภาวะโพแทสเซียมในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 40-60 ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนิ่วอาจแบ่งได้เป็นปัจจัยภายใน เช่น กายวิภาคของไต พันธุกรรม เชื้อชาติ และปัจจัยภายนอก เช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ อากาศ และฤดูกาล ปริมาณน้ำที่ดื่ม พฤติกรรมการกิน อาชีพ ยาบางชนิด

นิ่วที่พบได้บ่อยในประเทศไทย

ก้อนนิ่วสามารถจำแนกชนิดคร่าวๆ ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ นิ่วชนิดเนื้อเดียวที่มีองค์ประกอบเพียงอย่างเดียว และนิ่วชนิดเนื้อผสมที่มีหลากหลายองค์ประกอบรวมกัน นิ่วส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยเป็นนิ่วเนื้อผสม นอกจากนั้นเราสามารถแบ่งชนิดนิ่วได้จากองค์ประกอบหลักที่สำคัญในก้อนนิ่ว ได้แก่ นิ่วแคลเซียมออกซาเลต นิ่วแคลเซียมฟอสเฟต นิ่วยูเรตหรือนิ่วกรดยูริก นิ่วสตูไวท์หรือนิ่วติดเชื้อ นิ่วซีสทีน นิ่วชนิดอื่นๆ

อาการของโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

อาการของนิ่วในทางเดินปัสสาวะจะขึ้นกับขนาดของนิ่ว ตำแหน่งที่นิ่วนั้นอุดอยู่ นิ่วนั้นอุดทางเดินปัสสาวะมากน้อยแค่ไหน หากเป็นในระยะแรกร่างกายอาจขับก้อนนิ่วออกมาได้เองทางปัสสาวะ ซึ่งจะพบตะกอนเหมือนก้อนกรวดเล็กๆ ปนออกมาพร้อมกับปัสสาวะ แต่ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้นจะมีการอุดตันที่มากขึ้น มีการเสียดสีและทำให้เกิดการบาดเจ็บมีเลือดออก ส่งผลให้ปัสสาวะมีสีแดงขึ้นจากเลือดหรือบางกรณีมีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ

1. อาการของนิ่วในไต หรือท่อไต

มีอาการปวดบริเวณเอวด้านหลังที่เป็นตำแหน่งของไต เวลาที่ก้อนนิ่วมันหลุดมาอยู่ในท่อไตจะปวดชนิดที่รุนแรงมาก เหงื่อตก เกิดเป็นพักๆ ปัสสาวะอาจมีเลือดหรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อร่วมด้วยได้ เรื่องปวดหลังต้องเข้าใจว่า ถ้าปวดเพราะทำงานหนักหรือนั่งทำงานมานานๆกล้ามเนื้อหลังอาจล้าหรือปวดได้ อันนี้เป็นเรื่องของการปวดเมื่อยซึ่งเป็นกันมากซึ่งอาจจะสับสนว่าเป็นนิ่วได้ ถ้านิ่วลงมาอุดบริเวณที่ท่อไตต่อกับกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีอาการระคายเคืองเวลาปัสสาวะ อยากปัสสาวะ แต่ปัสสาวะขัด กะปริดกะปรอย

ในกรณีที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนจะมีอาการไข้ร่วมด้วย หากปล่อยให้เป็นนิ่วไปนานๆ โดยมิได้รับการรักษาจะทำให้ไตบาดเจ็บเรื้อรัง ส่งผลให้ไตมีรูปร่างและทำงานผิดปกติมากขึ้นและนำไปสู่ภาวะไตวายในที่สุด ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้นหากมีอาการที่น่าสงสัยก็ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

2.อาการของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

ปัสสาวะจะขัด สะดุด ถ่ายเจ็บ ไม่สะดวก บางทีออกกะปริดกะปรอยหรือออกเป็นหยดขุ่นหรือขาวเหมือนมีผงแป้งอยู่ บางครั้งมีเลือดหรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อ อาจมีสิ่งที่คล้ายกรวดทรายปนออกมากับปัสสาวะ ถ้านิ่วไปอุดท่อทางเดินปัสสาวะก็จะทำให้เกิดการอยากถ่ายปัสสาวะอยู่เสมอ แต่ก็ถ่ายไม่ออก

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

1. ส่วนใหญ่มักจะพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ

2. ถ้าพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะอาจแสดงถึงว่ามีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

3. ตรวจการทำงานของไตโดยการเจาะเลือดดูค่า creatinin

4. การตรวจทางรังสี

  • x-ray เงาไตที่เรียก KUB (Kidney ureter and bladder) ถ้าหากเป็นนิ่วที่ทึบแสงก็สามารถเห็นนิ่วได้ หากเป็นนิ่วที่ไม่ทึบแสงก็ไม่สามารถเห็น
  • IVP (Intravenous pyelogram) เป็นการฉีดสีเข้าเส้นเลือดดำ และสีนั้นจะถูกขับออกทางไตหลังจากฉีดจะ x-ray เงาไตที่เวลาต่างๆ หลังฉีดสี เพื่อดูรูปร่าง ลักษณะของไต ว่ามีการอุดตันจากนิ่วหรือไม่ รวมถึงการทำงานของไต ว่าดีมากน้อยแค่ไหน
  • Ultrasound ดูลักษณะ รูปร่างของไต ดูนิ่วในไตซึ่งในบางชนิดไม่สามารถเห็นจากการ x ray ปกติ เนื่องจากนิ่วไม่ทึบแสง อาจดูเห็นว่าไตมีการบวมจากการอุดตันของนิ่ว ข้อดีคือ สามารถตรวจในคนท้องได้ไม่ต้องเจอรังสี ทำในคนสูงอายุได้อย่างปลอดภัย ข้อเสียคือ มักจะไม่พบนิ่วที่ท่อไตและความไวในการตรวจต่ำ

 

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น

การรักษา

การรักษามีหลายวิธี แพทย์จะพิจารณาโดยอาศัยข้อมูลเรื่องขนาดของนิ่ว ตำแหน่งของนิ่ว ความแข็งของนิ่ว ไตบวมมากหรือน้อย การอักเสบของไต เป็นต้น เพื่อพิจารณาเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละราย บางท่านอาจจะเหมาะสมที่จะรักษาด้วยการสลายนิ่ว แต่บางท่านไม่เหมาะสมที่จะสลายนิ่ว อาจรักษาได้ด้วยวิธีอื่น ๆ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อจะได้เข้าใจถึงเหตุผลที่แพทย์เลือกวิธีนั้น ๆ ในการรักษา

1. การรักษาทางยา เหมาะในรายที่เป็นนิ่วขนาดเล็กในไตหรือท่อไต ลักษณะกลม เรียบ มีอาการปวดไตน้อย ไม่อักเสบรุนแรง

2.การรักษาด้วยการสลายนิ่วด้วยเครื่อง SHOCKWAVE เหมาะสำหรับนิ่วในไต หรือ ท่อไตขนาดปานกลาง โตประมาณ 2 - 3 เซนติเมตร

3. การรักษาด้วยการใช้กล้องส่อง เข้าไปคีบ ขบ กรอนิ่ว เหมาะสำหรับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและท่อไต ผู้ป่วยไม่มีแผลผ่าตัด สามารถสอดกล้องเข้าไปตามท่อปัสสาวะได้เลย

4. การรักษาด้วยการเจาะสีข้างเข้าไปในไตเพื่อส่องกล้องและกรอนิ่ว เหมาะสำหรับนิ่วขนาดปานกลาง และโตแบบไม่แตกแขนง

5.การรักษาด้วยการผ่าตัด เหมาะสำหรับนิ่วขนาดใหญ่ เช่น นิ่วเขากวางในไต นิ่วในท่อไตที่ติดแน่น ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบรุนแรงซึ่งต้องรีบขจัดนิ่วออก ผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมมากแล้ว เป็นต้น

การป้องกันการเกิดโรคนิ่ว

1. ให้ดื่มน้ำมากกว่าวันละ 8 แก้ว หรือให้ได้ปริมาตรของปัสสาวะมากกว่า 2 ลิตรต่อวัน เพื่อลดความอิ่มตัวของสารก่อนิ่วในปัสสาวะ และลดโอกาสการก่อผลึกนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

2. บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนและสัดส่วนเหมาะสม

3. ลดอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ไขมันสัตว์ อาหารหวานและเค็มมาก และอาหารที่มีกรดยูริกสูง ได้แก่ หนังสัตว์ปีก ตับ ไต ปลาซาร์ดีน

4. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีออกซาเลตสูง ได้แก่ งา ผักโขม ช็อกโกแลต สตรอเบอร์รี่ ชา ถั่ว แอปเปิ้ล หน่อไม้ฝรั่ง บล็อคโคลี่ ชีส เบียร์ น้ำอัดลม กาแฟ โกโก้ ไอศครีม นม ส้ม สัปปะรด วิตามินซี โยเกริ์ต

5. ผู้ที่มีนิ่วควรรับประทานอาหารที่มีใยมาก

6. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

7. สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติและสงสัยว่ามีนิ่วไตควรปรึกษาแพทย์

ผู้ที่เคยเป็นนิ่วแล้วมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นโรคนิ่วอีกครั้งได้มาก ดังนั้น การป้องกันรักษาตัวไม่ให้เกิดโรคนิ่วจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด และควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอหลังการรักษานิ่ว