เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 16 สไลด์ (CT Scan 16 Slice)

เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง 16 สไลส์ ทำให้ได้ภาพที่คมชัด มีความรวดเร็วในการตรวจ การวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ และสามารถเอกซเรย์อวัยวะได้ทุกส่วนของร่างกาย มีความสามารถในการเก็บข้อมูลที่ละเอียด รวดเร็วและสามารถสร้างภาพครั้งเดียว 16 ภาพ (0.4 วินาที) ต่อการหมุน 1 รอบ ของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องมีความเร็วในการเก็บข้อมูลเร็วขึ้นสามารถทำการตรวจพิเศษต่างๆ ได้ เช่น

  • การตรวจหลอดเลือดของระบบอวัยวะต่างๆ ( CT Angiography)
  • การตรวจหาแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ (Calcium Scoring)
  • การตรวจเพื่อดูการแพร่กระจายของเลือด ( Perfusion image )
  • เครื่องเอกซเรย์เต้านม( MAMMOGRAM )เป็นเครื่องเอกซเรย์ชนิดพิเศษที่ผู้ใช้บริการจะได้รับรังสีต่ำ สามารถแยกความแตกต่างของไขมัน และเนื้อเยื่อชนิดต่าง ๆ ของเต้านมชัดเจน เป็นเครื่องมือที่ให้ผลถูกต้องและแม่นยำสูง สามารถเห็นเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็ง ระยะเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี

       

      เครื่องอัลตร้าซาวด์( ULTRASOUND )

      อัลตร้าซาวน์เป็นวิธีที่ใช้คลื่นเสียงทำให้เกิดภาพของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยใช้หัวตรวจทำหน้าที่คล้ายลำโพงปล่อยคลื่นเสียงออกไปกระทบกับเนื้อเยื่อ และเสียงจะสะท้อนกลับมาที่หัวตรวจอันเดิมที่ทำหน้าที่เหมือนไมโครโฟนไปด้วย หลังจากนั้นคอมพิวเตอร์ก็จะวิเคราะห์และเปลี่ยนรูปแบบของคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับออกมาเป็นภาพให้เราเห็น คลื่นเสียงที่ว่ามนุษย์เราจะไม่ได้ยินเพราะว่าเป็นคลื่นเสียงที่มีความถี่สูง พูดง่ายๆ ก็คือ เราใช้วิธีการเดียวกับที่ค้างคาวใช้ในการบอกทิศทาง หรือการใช้โซนาร์ในเรือดำน้ำนั่นเอง เนื่องจากไม่ได้ใช้รังสีเหมือนการเอกซเรย์ ดังนั้นการตรวจโดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวน์จึงเป็นวิธีที่ปลอดภัย

      ประโยชน์ของอัลตร้าซาวน์ อัลตร้าซาวด์จัดว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากในทางการแพทย์ สำหรับการวินิจฉัยโรคให้แม่นยำขึ้น แพทย์จะใช้เพื่อดูอวัยวะภายในร่างกายต่างๆ เช่น ตับ ถุงน้ำดี ไต ตับอ่อน ม้าม ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้รวมไปถึงทารกในครรภ์มารดา
      อัลตร้าซาวด์ใช้ตรวจอะไรได้บ้าง
      1. เพื่อดูทารกในครรภ์
      2. ดูอวัยวะภายในช่องท้อง ตลอดจนส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

      ระบบ PACS

      PACS ย่อมาจากคำว่า Picture Archiving and Communication System คือ ระบบที่ใช้ในการจัดเก็บรูปภาพ ทางการแพทย์( Medical Images) และรับ-ส่งข้อมูลภาพ ในรูปแบบ Digital PACS ใช้การจัดการรับส่งข้อมูล ผ่านทางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยการส่งภาพข้อมูลตามมาตรฐาน DICOM

      ทำไมถึงต้องใช้ PACS

      ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทในทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ระบบ PACS ก็เป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์อย่างหนึ่ง ที่พัฒนามาเพื่อใช้กับแผนกรังสีโดยตรง เนื่องจากภาพถ่ายทางรังสีมีความจำเป็นในการช่วยวิเคราะห์โรค และรักษาผู้ป่วย ระบบ PACS จะช่วยให้แพทย์ ได้รับภาพถ่ายทางรังสี และผลวิเคราะห์จากรังสีแพทย์อย่างรวดเร็ว ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรค และให้การรักษา ผู้ป่วยได้เร็วยิ่งขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยหนัก นอกจากนี้ ปัญหาการจัดเก็บ และค้นหาฟิล์มเอ็กซเรย์ ก็ทำให้เกิดความล่าช้า ของการรายงานผลเอ็กซเรย์ได้ บางครั้งเราอาจจะพบว่ามีการสูญหายของฟิล์มเอ็กซเรย์ ซึ่งมีความจำเป็น ในการใช้เปรียบเทียบ การเปลี่ยนแปลงของโรค และการให้การรักษาต่อเนื่อง ระบบ PACS มีการจัดเก็บข้อมูล ไว้ในคอมพิวเตอร์ซึ่งมีระบบเก็บข้อมูลสำรอง จึงช่วยแก้ปัญหานี้ได้

      ประโยชน์ของระบบ PACS

      ข้อดีของระบบ PACS มีหลายอย่างดังนี้
      1. ผลดีต่อกระบวนการรักษาพยาบาล
      - ลดเวลาในการตรวจ และรอคอยผลการเอ็กซเรย์ เนื่องจากการล้างฟิล์ม และการค้นหาฟิล์มเก่า
      - ได้รับการวินิจฉัยโรค และได้รับการรักษาพยาบาลเร็วขึ้น
      - เนื่องจากสามารถเรียกข้อมูลเก่าที่เก็บไว้ในระบบได้ตลอด เวลาทำให้แพทย์ สามารถเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลง ของโรคได้ตลอดเวลาซึ่งจะช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำ ยิ่งขึ้น และช่วยในการวางแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง
      - ลดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ จะได้รับเนื่องจากการถ่ายฟิล์มซ้ำ ที่เกิดจากการตั้งค่าเทคนิค ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วย

      2. ประหยัดทรัพยากรและ รักษาสิ่งแวดล้อม
      - ลดอัตราการสูญเสียฟิล์มในการเอ็กซเรย์ซ้ำ เพราะระบบการถ่ายเอ็กซเรย์ที่เก็บภาพแบบ Digital ทำให้รังสีแพทย์ สามารถที่จะทำการปรับค่า ความสว่างของภาพได้
      - ลดการสูญหายของฟิล์มเอ็กซเรย์ที่จะเกิดขึ้นในระบบเก่า
      - ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการล้างฟิล์ม ( น้ำยาล้างฟิล์ม และ น้ำเสียจากเครื่องล้างฟิล์ม)
      - ลดพื้นที่ในการจัดเก็บฟิล์มเอ็กซเรย์
      - จะไม่มีการเสื่อมสภาพของภาพรังสี เพราะว่าข้อมูลภาพถ่ายทางรังสีจะถูกเก็บในรูปแบบ Digital

      ระบบ PACS จัดเก็บภาพเอ็กซเรย์อย่างไร
      สำหรับระบบ PACS ในแผนกเอกซเรย์ สามารถทกการรับสัญญาฯ โดยทำการเชื่อมภาพที่เกิดจากเครื่องมือต่างๆ โดยผ่านมาตรฐานภาพ DICOM ดังนี้
      1.Spiral Computed Tomography เป็นเครื่องตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ระบบใหม่
      2.Digital Subtraction Imaging เป็นเครื่องตรวจเอ็กซเรย์ร่วมกับสารทึบรังสี เช่น การตรวจกระเพาะอาหาร
      3.Color Doppler Ultrasound เป็นเครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงระบบใหม่ สามารถตรวจพยาธิสภาพของหลอดเลือดได้
      4.Computed Radiograph (CR system) เป็นการถ่ายเอ็กซเรย์ทั่วไป แต่ใช้ Imaging plate แทนฟิล์ม แล้วนำเข้าเครื่องอ่าน ซึ่งจะได้ภาพเป็น digital image ซึ่งสามารถส่งเข้าจอวินิจฉัยภาพของรังสีแพทย์เพื่อแปลผล และส่งให้แพทย์ผู้ส่งตรวจได้พร้อมกัน
      ภาพจากเครื่องดังกล่าวทั้งหมดเป็นระบบดิจิตอลซึ่งจะถูกส่งมาเก็บในฐานข้อมูลของระบบ PACS และส่งไปยังจุดต่างๆที่จำเป็นทั่วโรงพยาบาล