เอดส์ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งมีผลในการทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เสียไป ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น ปอดบวม วัณโรค เชื้อรา และโรคมะเร็งได้ง่าย ผู้ป่วยมักเสียชีวิตด้วยโรคเหล่านี้

เชื้อ เอชไอวี ทำอะไร กับร่างกายเรา

โดยปกติร่างกายเราสัมผัสกับเชื้อโรคสารพัดที่มีอยู่รอบตัว แต่เราไม่เป็นอะไร เพราะมีระบบภูมิคุ้มกันซึ่งมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิดทำหน้าที่จัดการกับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายเรา ทำให้เราไม่เจ็บป่วย       ซีดี4 เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เป็นตัวหลักในการกำจัดและควบคุมเชื้อโรค  อีกทั้งมีบทบาทในการสร้างสารภูมิคุ้มกันให้ร่างกายใช้เป็นอาวุธต่อสู้กับเชื้อโรคด้วย    เชื้อเอชไอวี เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะใช้ ซีดี4 ในการขยายพันธุ์  และทำลาย ซีดี4 ให้มีจำนวนลดลง

ในช่วงที่ได้รับเชื้อเอชไอวี แต่ยังไม่มีอาการ เรียกว่า เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี

เมื่อเชื้อเอชไอวีเพิ่มมากขึ้น   และซีดี4ลดลง จนไม่สามารถควบคุมเชื้อโรคต่างๆได้   เรียกว่า เป็นโรคเอดส์  หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง  โรคที่ป่วยเนื่องจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง  เรียกว่า โรคฉวยโอกาส ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคต่างๆที่ซีดี4ควบคุมไว้ไม่อยู่

ปัจจุบัน แม้โรคเอดส์จะยังคงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้   แต่เราก็สามารถควบคุมเชื้อเอชไอวี ไม่ให้ทำลายภูมิคุ้มกันได้  โดยการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี  ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ก็สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้เหมือนคนปกติทั่วไป

การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี

ยาต้านไวรัสเอชไอวี มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือด เมื่อจำนวนเชื้อลดลง  ร่างกายก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น   โอกาสในการเจ็บป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสจึงลดลง เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยส่วนมากสามารถทำงานและดำรงชีวิตตามปกติได้  และการเสียชีวิตจากโรคฉวยโอกาสก็เป็นไปได้น้อย

อย่างไรก็ตาม การกินยาต้านฯ มีข้อที่ต้องคำนึงอยู่หลายประการ เมื่อแพทย์วินิจฉัยและให้การรักษา  ผู้ติดเชื้อจะต้องประเมินว่าตนเองมีความพร้อมในการรับยาแล้วหรือยัง   เพราะการกินยาต้านฯ ต้องกินให้ถูกต้อง ตรงเวลา และต่อเนื่องตลอดชีวิต เนื่องจากยาไม่สามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีให้หมดไปจากร่างกายได้  ยาจะช่วยควบคุมจำนวนเชื้อให้มีน้อยที่สุด การกินยาตรงเวลา และต่อเนื่อง เพื่อไม่เปิดโอกาสให้เชื้อดื้อยาได้ง่าย และสามารถควบคุมเชื้อไว้ได้ตลอดเวลา

ยาต้านไวรัสเอชไอวี มีด้วยกันหลายชนิด ออกฤทธิ์แตกต่างกันไป การเลือกใช้ยา แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย   การรักษาที่จะให้ผลดี และช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ จะใช้ยา 3 ตัวรวมกัน หรือมากกว่า ที่เรียกว่า Highly Active Antiretroviral Therapy (HAART)

กินยาต้านฯอย่างไร ให้ได้ผลดี

  1. กินยาตรงเวลา ทุกมื้อ และทุกวัน
  2. อย่าเปลี่ยนยาด้วยตนเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ ถ้าพบว่าปฏิบัติตามแผนการรักษาได้ยาก ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อค้นหาแนวทางการรักษาใหม่ที่เหมาะสม
  3. หากจะใช้ยาอื่นนอกเหนือที่แพทย์สั่ง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
  4. ควรกินอย่างสม่ำเสมอ หากหยุดยาระยะหนึ่งแล้วมากินต่อ ก็อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา การรักษาจะยิ่งยากมากขึ้น
  5. ยาที่กินวันละ 1 ครั้ง ที่ฉลากยาอาจระบุ  “ ทุก 24 ชั่วโมง ” จะกินเวลาไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน เช่น กินตอน 9 โมง เช้า ก็ต้องเป็น 9 โมง เช้าทุกวัน
  6. ยาที่กินวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน   เป็นยาที่กินก่อนนอน  และต้องกินเวลาเดียวกันทุกวัน  เช่น กินตอน 3 ทุ่ม (21 น.) ก็ต้องเป็น 3 ทุ่ม (21 น.) ทุกวัน  หากบางวันนอนดึก กินยา 3 ทุ่มแล้วยังไม่เข้านอนก็ไม่เป็นไร   ยาก่อนนอนมักเป็นยาที่มีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้-อาเจียน มึนงงหรือง่วงนอน เช่น ยา EFV (เอฟฟาไวเร็นซ์)  ถ้ากินแล้วนอนจะช่วยให้อาการข้างเคียงเหล่านี้ลดน้อยลงได้
  7. ยาที่กินวันละ 2 ครั้ง ที่ฉลากยาอาจระบุ  “ ทุก 12 ชั่วโมง ” หรือ  “ เช้า-เย็น ” ต้องกินยา ห่างกัน 12 ชั่วโมง เช่น มื้อแรก กิน 8 โมงเช้า มื้อที่ 2 ต้องกินตอน 2 ทุ่ม ของทุกวัน ( ควรตั้งเวลาที่สามารถปฏิบัติได้สะดวก เช่น ไม่ควรตั้งเวลาดึกมาก หรือเช้าเกินไปจนลุกตื่นไม่ไหว )
  8. นอกจากตรงเวลาแล้ว ยาบางชนิดจำเป็นต้องสัมพันธ์กับอาหารด้วย  เช่น  ยาก่อนอาหาร   ต้องกินตอนท้องว่าง หรือกินก่อนอาหารหนึ่งชั่วโมง เพราะจะช่วยให้ยาดูดซึมได้ดี และไม่ถูกทำลายโดยน้ำย่อยอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด  เช่น ยา ddI (ดีดีไอ) , Indinavir (อินดินาเวียร์) ยาหลังอาหาร    ต้องกินหลังอาหารทันที  เพราะยาจะดูดซึมได้ดีเวลาที่ในกระเพาะมีอาหาร และป้องกันการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร เช่น RTV (ริโทนาเวียร์) , AZT (ซิโดวูดิน)
  9. กรณีที่ผู้ป่วยจัดยากินเองไม่ได้   ญาติก็สามารถช่วยจัดยาเตรียมไว้ให้ได้  โดยใส่กล่องแบ่งยา หรือซองแบ่งยา  ซึ่งทางร.พ.สำโรงการแพทย์ มีกล่องแบ่งยาหรือซองแบ่งยา  สำหรับญาติจัดเตรียมยาผู้ป่วย หรือผู้ป่วยที่ต้องการจัดเตรียมยาไว้ล่วงหน้าเพื่อกันลืม 

 

                                                            aids_jpg1   aids_2_

การแพ้ยา กับ อาการข้างเคียง ไม่เหมือนกัน

การแพ้ยา ไม่สามารถใช้ยาตัวนั้นอีกได้

  1. ถ้าแพ้ยาไม่รุนแรง อาจมีไข้ มีผื่นลมพิษ เยื่อบุอ่อนพองบวม เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุปาก หายใจขัดหรือหอบ ยา NVP (เนวิราปิน) ทำให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อยกว่ายาอื่น
  2. การแพ้ยารุนแรงจะเกิดการช็อค หายใจไม่ทัน ขาดอากาศ หมดสติได้ ดังนั้น เมื่อทราบว่าเคยมีประวัติแพ้ยา ควรบอกแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับยา

อาการข้างเคียง

ยังอาจใช้ยาตัวเดิมได้  โดยการดูแลและบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อลดปัญหาการหยุดกินยา เนื่องจากความท้อแท้หรือไม่เข้าใจได้

  1. อาการข้างเคียงในระยะสั้นและไม่รุนแรง พบได้และอาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น ภายในเวลาประมาณ 2 - 3 เดือน เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืด นอนไม่หลับ ฝันร้าย มีผื่นขึ้นเล็กน้อย
  2. อาการข้างเคียงในระยะสั้นและรุนแรง เช่น ภาวะซีด ตับหรือตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ชาปลายมือปลายเท้า นิ่วในไต ซึ่งอาจพบได้ทุกช่วงของการกินยา และอาจทำให้เสียชีวิตได้ถ้าไม่รีบแก้ไข ดังนั้น ต้องติดตามอาการเหล่านี้อย่างใกล้ชิด   มารับการตรวจตามนัดสม่ำเสมอ ถ้าพบอาการผิดปกติ เช่น  ท้องอืด  อาเจียน   อ่อนเพลีย   หมดแรง (อาการของภาวะกรดในเลือด)   ต้องมาพบแพทย์ก่อนวันนัด
  3. อาการข้างเคียงในระยะยาว มักพบหลังจากกินยาเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่ตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป บางรายพบได้ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี อาการข้างเคียงในระยะยาว เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย การกระจายและสะสมของไขมันผิดปกติและผิดที่ มีไขมันพอกที่ต้นคอ ลำตัวอ้วน แขนขาลีบ แก้มตอบ

ปฏิกิริยาระหว่างยาต้านฯกับยาอื่น  ( Drug-Drug Interaction )

ยาหลายๆ ชนิด จะมีผลต่อระดับยาต้านไวรัสในเลือด อาจทำให้เกิดความเป็นพิษจากยาได้ หรืออาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล ดังนั้นหากจะใช้ยาตัวอื่นๆ นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

  1. ยาต้านเชื้อรา ได้แก่ Ketoconazole, Itraconazole มีผลเพิ่มระดับยาต้านไวรัสในเลือด
  2. ยารักษาไมเกรน ได้แก่ Ergotamine ไม่ควรรับประทานร่วมกับยาต้านกลุ่ม PIs เช่น RTV , Kaletra ( LPV+RTV) เพราะจะมีผลเพิ่มระดับยา ergot อย่างรวดเร็ว  อาจจะมีอาการตั้งแต่เริ่มแรกที่กินยา เช่น คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง เพลีย หน้ามืด ความดันตก ชา ปวดที่แขนขา โดยเฉพาะขา เกิดการขาดเลือด เพราะมีการไหลเวียนของเลือดบริเวณปลายมือปลายเท้าลดลง หรือถ้าเป็นที่สมองก็ทำให้ ชักหรือ อัมพาต ได้
  3. ยานอนหลับ ได้แก่ Midazolam, Triazolam, Alprazolam และ Diazepam เพราะจะทำให้ยากลุ่มนี้มีระดับยาสูงขึ้นและทำให้ฤทธิ์ยานอนหลับยาวนานขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีปัญหาโรคตับด้วย ถ้าจำเป็นต้องใช้ยานอนหลับ ให้ใช้ยา Lorazepam แทน
  4. ยากันชัก ได้แก่ Phenobarbitol, Phenytoin, Carbamazepine ลดระดับยาต้านฯ

ปฏิกิริยาระหว่างยาต้านฯกับสมุนไพร ( Drug-Herb Interaction )

สมุนไพรบางชนิด ได้แก่ St.John’s wort, Grapefruit juice มีผลลดระดับยาต้านไวรัสในเลือด ทำให้การรักษาการติดเชื้อ HIV ไม่ได้ผล จึงควรหลีกเลี่ยงสมุนไพรดังกล่าว

 


  ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์