หน้าแรก > จิตเวช > Assets > Frontend > Css > Images > บริการทางการแพทย์ > ศัลยกรรมกระดูก > ข้อเท้าเคล็ด
ข้อเท้าเคล็ด
วันอังคารที่ 27 กันยายน 2554 เวลา 17:22 น.
ข้อเคล็ด ข้อแพลง หรือ เส้นเอ็นฉีกขาด พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยบริเวณที่พบบ่อยมากที่สุดก็คือ ข้อเท้า มักจะเกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น หกล้มแล้วข้อเท้าบิด เส้นเอ็นข้อเท้าที่พบว่าเกิดข้อเคล็ดได้บ่อย คือ เส้นเอ็นข้อเท้าด้านนอก ปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเท้าเคล็ดได้บ่อย คือ เคยมีประวัติข้อเท้าเคล็ดมาก่อน รองเท้าไม่เหมาะสม น้ำหนักตัวมาก เดินหรือวิ่งบนพื้นที่ขรุขระ กล้ามเนื้อรอบข้อเท้าไม่แข็งแรง ถ้าเอ๊กซเรย์ข้อเท้า โดยส่วนใหญ่มักจะไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่ในบางรายที่มีอาการมาก อาจพบมีกระดูกหัก หรือ ถ้าเส้นเอ็นขาดหลายเส้น และมีระดับความรุนแรงมาก ก็จะพบว่ามีช่องว่างของข้อเท้ากว้างมากขึ้น
ระดับความรุนแรง
เส้นเอ็นยึดข้อถูกเหยียดออกมากเกินไป และบางเส้นใยอาจฉีกขาด จะมีอาการปวดเล็กน้อยเวลากด หรือเคลื่อนไหวข้อ แต่มักจะไม่บวม ยังสามารถเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติ มักจะหายภายใน 2 อาทิตย์ • ระดับที่สอง เส้นเอ็นยึดข้อมีการฉีกขาดบางส่วน จะมีอาการปวดและกดเจ็บมากพอควร รวมทั้งมีอาการบวมและฟกช้ำ เพราะเส้นเลือดเล็ก ๆ ฉีดขาด ทำให้มีเลือดออก เวลาลงน้ำหนักจะรู้สึกปวด มักจะหายใน 4-6 อาทิตย์ • ระดับที่สาม เส้นเอ็นยึดข้อเส้นหนึ่งหรือหลายเส้นเกิดการฉีกขาดจากกันทั้งหมด ทำให้เกิดอาการปวดมาก ข้อจะบวมและฟกช้ำมาก เคลื่อนไหวข้อหรือลงน้ำหนักไม่ได้ อาจต้องใช้เวลาในการรักษา 6-10 เดือนจึงจะหายสนิท แล้วถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมก็จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างสูงมาก
|
แนวทางการรักษา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเส้นเอ็นที่ได้รับการบาดเจ็บ ซึ่งมีแนวทางดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวข้อเท้า เช่น การใช้ไม้ดาม ใส่เฝือก ใช้ผ้ายืดพัน หรือใช้ไม้เท้าพยุงเวลาเดิน 2. ในระยะ 24-48 ชั่วโมงแรกให้ประคบบริเวณที่บาดเจ็บด้วยความเย็น เช่น ใช้ผ้าหุ้มก้อนน้ำแข็ง โดยประคบครั้งละ 10 - 20 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง หรือทุก 1 - 2 ชม. ความเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือดไม่ออกมากขึ้น ช่วยลดอาการปวด และลดอาการบวม ห้ามใช้ความร้อน เช่น ยาหม่อง ครีมนวด เพราะจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว เลือดออกมากขึ้น ข้อบวมมากขึ้น ใช้ผ้ายืดพันรอบข้อที่เคล็ด เพื่อลดบวมแต่ ไม่ควรพันแน่นเกินไปเพราะจะทำให้ปลายเท้าบวมได้ ยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เช่น เวลานอนก็ใช้หมอนรองขาเพื่อยกเท้าให้สูงขึ้น ถ้าปวดมากอาจรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตตามอล เป็นยาที่ได้ผลดีและค่อนข้างปลอดภัย ส่วน ยาแก้ปวดลดการอักเสบ มักจะเกิดผลข้างเคียงโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคกระเพาะ จึงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ 3.เมื่อพ้นระยะ 24-48 ชั่วโมง ให้ใช้ความร้อน ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น น้ำอุ่น กระเป๋าไฟฟ้า ถุงร้อน ครีมนวด น้ำมัน เป็นต้น โดยจะประคบด้วยความร้อน 4 นาที สลับกับความเย็น 1 นาที ร่วมกับการบริหารข้อเท้า โดยทั่วไปถ้าเป็นข้อเคล็ดระดับที่ 1 อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นใน 2 - 3 วัน ซึ่งถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น หรือ คาดว่าอาจจะเป็นข้อเคล็ดระดับที่ 2-3 (ข้อเท้าบวมมาก ปวดมากจนเดินไม่ได้) หรือ สงสัยว่าจะมีกระดูกหักร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์ 4. การบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเท้า 4.1 เคลื่อนไหว 6 ทิศทาง ( กระดกขึ้น งอลง บิดเท้าเข้า บิดเท้าออก หมุนเท้าวนเข้า และ หมุนเท้าวนออก ) หรือ อาจใช้วิธีบริหารโดยเคลื่อนไหวปลายเท้า เหมือนกับการเขียนตัวหนังสือขนาดใหญ่ ๆ ก็ได้ 4.2 บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดย เกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้ประมาณ 5 -10 วินาที ใน 4 ทิศทาง คือ กระดกขึ้น งอลง บิดเท้าเข้าด้านใน และ บิดเท้าออกด้านนอก ถ้าไม่มีอาการปวด ก็อาจถ่วงน้ำหนัก 0.5 - 4 กิโลกรัมที่บริเวณปลายเท้า หรือใช้เท้าดันกับขอบโต๊ะแทนก็ได้ 5.การบริหารประสาทรับความรู้สึกของข้อเท้า - ยืน หรือ นั่ง แล้วให้ลงน้ำหนักเล็กน้อยบนเท้าข้างที่บาดเจ็บ โดยเน้นลงน้ำหนักตามส่วนต่าง ๆ ของเท้า คือ ส้นเท้า ปลายเท้า ด้านในเท้า ด้านนอกเท้า ทำสลับกัน ประมาณ 10 รอบ - วางเท้าบนแผ่นไม้ ที่เอียงกระดกได้ แล้วเหยียบให้แผ่นไม้กระดกไปทางด้านส้นเท้า ด้านปลายเท้า ด้านในเท้า ด้านนอกเท้า ทำสลับกัน ประมาณ 10 รอบ |