การปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)
อาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) คือ มีอาการปวดที่บริเวณตรงกลางท้องน้อยในระหว่างที่มีประจำเดือน มีลักษณะอาการปวดได้หลายแบบ เช่น ปวดตื้อๆ, ปวดแบบบิดๆ , ปวดแบบเข็มแทง, ปวดเหมือนไฟฟ้าช็อต เป็นต้น ส่วนใหญ่จะปวดนานประมาณ 2-3 วันในแต่ละรอบเดือน
การปวดประจำเดือนในผู้หญิงแต่ละคนมีความรุนแรงไม่เท่ากัน คือ บางคนอาจทำให้เพียงแค่รำคาญ ไม่จำเป็นต้องกินยาแก้ปวด , บางรายอาจปวดจนถึงขั้นต้องกินยาแก้ปวด ไปจนถึงปวดรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและไม่สามารถไปเรียนหรือทำงานได้ตามปกติ

อาการ
1. อาการปวดที่บริเวณท้องน้อย มีลักษณะอาการปวดได้หลายแบบ เช่น ปวดตื้อๆ, ปวดแบบบิดๆ , ปวดแบบเข็มแทง, ปวดเหมือนไฟฟ้าช็อต เป็นต้น
2. อาการปวดอาจร้าวไปยังหลังด้านล่างและต้นขา
3. มีอาการร่วมที่เกิดจากฮอร์โมนเพศเปลี่ยนแปลงในช่วงที่มีการตกไข่ เช่น คลื่นไส้และอาเจียน, ถ่ายเหลว, มึนงง เป็นต้น

สาเหตุ
สาเหตุของอาการปวดประจำเดือน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. ปวดประจำเดือนที่ไม่มีสาเหตุ (Primary Dysmenorrhea) : เป็นกลุ่มที่ได้รับการตรวจจากแพทย์แล้วไม่พบความผิดปกติที่สามารถอธิบายอาการปวดของผู้ป่วยได้
ในกลุ่มนี้ผู้ป่วยจะมีลักษณะ คือ เริ่มมีอาการปวดครั้งแรกตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนใหม่ๆ , อาการปวดรุนแรงไม่มาก ไม่จำเป็นต้องกินยาแก้ปวดหรือกินยาแก้ปวดในขนาดเท่าเดิมแล้วอาการดีขึ้น
สาเหตุของอาการปวดประจำเดือนในกลุ่มนี้ เชื่อว่าเกิดจากในช่วงที่มีประจำเดือน มดลูกจะเกิดการหดตัวเพื่อช่วยในการขับเยื่อบุมดลูกที่ลอกตัวออกมาเป็นประจำเดือน โดยมีสาร prostaglandins ที่สร้างจากมดลูก (เป็นสารที่ทำหน้าที่คล้ายกับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดและการอักเสบ) มากระตุ้นกล้ามเนื้อในมดลูกให้เกิดการหดตัว ในผู้หญิงแต่ละคนมีระดับของฮอร์โมน prostaglandin ที่มดลูกไม่เท่ากัน ซึ่งระดับของฮอร์โมน prostaglandin นี้จะสัมพันธ์กับความรุนแรงของการปวดประจำเดือน

2. ปวดประจำเดือนที่มีสาเหตุ (Secondary Dysmenorrhea) : เป็นกลุ่มที่ปวดประจำเดือนจากการที่มีพยาธิสภาพหรือความผิดปกติที่ภายในหรือภายนอกมดลูก เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ( Endometriosis) , ก้อนของกล้ามเนื้อมดลูก (Myoma uteri), การติดเชื้อในอวัยวะสืบพันธุ์ (Pelvic inflammatory disease)
ในกลุ่มนี้ผู้ป่วยจะมีลักษณะ คือ เพิ่งเริ่มมีอาการปวดประจำเดือนครั้งแรกตอนอายุมากแล้ว (ตอนเริ่มมีประจำเดือนใหม่ๆ ไม่เคยมีอาการปวดประจำเดือนมาก่อน), อาการปวดรุนแรงมาก กินยาแก้ปวดในขนาดเท่าเดิมแล้วอาการไม่ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
การวินิจฉัย
• ประวัติ : ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดประจำเดือนดังที่กล่าวมาแล้ว
• การตรวจร่างกาย : การตรวรภายในของแพทย์ อาจจะพบพยาธิสภาพของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานที่อธิบายอาการปวดประจำเดือนได้ เช่น พบมดลูกมีขนาดโตขึ้น กรณีที่มีก้อนในมดลูก (Myoma uteri) หรือมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน กรณีที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ( Endometriosis) เป็นต้น
• การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ : ประกอบด้วย
• การตรวจอัลตราซาวน์บริเวณอุ้งเชิงกราน : จะทำให้เห็นความผิดปกติที่อวัยวะในอุ้งเชิงกรานได้ เช่น ก้อนในมดลูก, ถุงน้ำที่รังไข่ เป็นต้น
• การทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) บริเวณอุ้งเชิงกราน
• การตรวจท้องโดยการส่องกล้องทางหน้าท้องเข้าดูอวัยวะในอุ้งเชิงกราน (diagnosis laparoscopy) : จะช่วยให้เห็นพยาธิสภาพของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานที่อาจไม่เห็นจากการส่งตรวจทางรังสีวิทยา โดยเฉพาะโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ( Endometriosis)

ภาวะแทรกซ้อน แบ่งได้เป็น
1. ภาวะแทรกซ้อนจากอาการปวดประจำเดือน : ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เช่น ทำให้ผู้ป่วยต้องหยุดเรียนหรือหยุดทำงาน
2. ภาวะแทรกซ้อนจากสาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือน เช่น
• กรณีที่ผู้ป่วยปวดประจำเดือนจากก้อนในมดลูก (Myoma uteri) : อาจทำให้มีเลือดประจำเดือนออกมาก จนเกิดภาวะซีดได้
• กรณีที่ผู้ป่วยปวดประจำเดือนจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ( Endometriosis) และการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease) : อาจทำให้เกิดภาวะเป็นหมันตามมาได้

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้น เท่านั้น

การรักษาและยา  การรักษาอาการปวดประจำเดือน ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ
1. การรักษาอาการปวด : ทำได้โดย
• การให้ยาแก้ปวด : ส่วนใหญ่จะใช้ยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นหลัก โดยเฉพาะยา mefenamic acid หรือ ponstan
• การกินยาคุมกำเนิด : จะช่วยรักษาระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายให้คงที่และช่วยยับยั้งการตกไข่ จึงช่วยลดความรุนแรงของการปวดประจำเดือนได้
2. การรักษาสาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือน : วิธีการรักษา ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค เช่น
• ก้อนในมดลูก (Myoma uteri) : ถ้าก้อนไม่ใหญ่และไม่ทำให้เกิดอาการ ไม่จำเป็นต้องรักษา แค่นัดติดตามอาการเป็นระยะ แต่ถ้าก้อนมีขนาดใหญ่หรือทำให้เกิดอาการแสดง แพทย์จะรักษาโดยการผ่าตัดเอาก้อนในมดลูกออก (ในกรณีที่ยังต้องการมีบุตรอีก) หรือผ่าตัดมดลูกออกทั้งหมด (ในกรณีที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว)
• เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ( Endometriosis) : รักษาโดยการฉีดยาคุมกำเนิดเพื่อลดการกระจายของเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่ หรือรักษาโดยการเลาะพังผืดออก ซึ่งสามารถทำได้โดยการส่องกล้องผ่าตัดหรือผ่าตัดโดยผ่านทางผนังหน้าท้อง
• การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease) : รักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อ
ยาที่ใช้บ่อยในการบรรเทาอาการปวด  คือ  Mefenamic acid, mefenamic