เกิดจากความบกพร่องของเนื้อสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดปัญหาในการเคลื่อนไหว ซึ่งแต่ละคนจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกร็ง งุ่มง่าม เคลื่อนไหวช้า ทรงตัวได้ไม่ดี สมองส่วนที่ใช้ควบคุมกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของเด็กสมองพิการเกิดบกพร่องหรือสูญเสีย ทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนไหว ซึ่งแต่ละคนจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกร็ง งุ่มง่าม เคลื่อนไหวช้า ทรงตัวได้ไม่ดี เด็กสมองพิการบางคนอาจมีความบกพร่องอื่นร่วมด้วย เช่น บกพร่องการได้ยิน การมองเห็น หรือการเรียนรู้ ซึ่งแต่ละคนจะเป็นมากน้อยแตกต่างกัน โรคสมองพิการได้รับการบันทึกในวารสารการแพทย์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1863 โดยนายแพทย์วิลเลียม ลิ้ตเติล ชาวอังกฤษ รายงานผู้ป่วยเด็กอายุหนึ่งปี มีความผิดปกติไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย กล้ามเนื้อขาทั้งสองข้างแข็งเกร็ง ในขณะนั้นจึงเรียกชื่อว่า Little’s disease
โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และเป็นโรคที่ไม่เป็นมากขึ้น อาการของโรคสมองพิการแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย และอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อระบบประสาทเจริญเต็มที่ ความผิดปกติเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด ถึงประมาณ 7 ขวบ ซึ่งเป็นระยะที่สมองเติบโตเต็มที่ สมองจะไม่ถูกทำลายไปมากกว่านี้ แต่ถ้าไม่ได้รับการฟื้นฟูสภาพความพิการ กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ก็จะติดยึดหรือเกร็งมากขึ้น

สาเหตุ
โรคสมองพิการเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด ถึงประมาณ 7 ขวบ ซึ่งเป็นระยะที่สมองเติบโตเต็มที่ สมองจะไม่ถูกทำลายไปมากกว่านี้ แต่ถ้าไม่ได้รับการฟื้นฟูสภาพความพิการ กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ก็จะติดยึดหรือเกร็งมากขึ้น
ส่วนใหญ่เป็นความพิการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน รายงานการศึกษาพบว่าสาเหตุจากระยะในครรภ์มารดา และระยะการคลอด พบมากกว่าสองในสามของผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการทั้งหมด
สาเหตุที่เกิดระหว่างคลอดพบได้ร้อยละ 3–13 ของผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการทั้งหมด ส่วนสาเหตุที่เกิดหลังคลอดพบได้ร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการทั้งหมด
กลุ่มที่ไม่พบสาเหตุ พบได้ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการทั้งหมด แต่ก็ควรค้นหาโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ความผิดปกติของสมองแต่กำเนิด หรือโรคทางพันธุกรรม ก่อนจะให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองพิการ
เมื่อทำการตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า พบความผิดปกติของสมองได้ 4 แบบ ชนิดแรกเป็นความผิดปกติที่เนื้อขาวของสมอง เรียกว่า periventricular leukomalacia (PVL) ชนิดที่สองพบพัฒนาการที่ผิดปกติของสมอง ชนิดที่สามพบเลือดออกในสมอง และชนิดสุดท้ายพบภาวะสมองขาดเลือดที่รุนแรง

สาเหตุที่เกิดขึ้นขณะมารดาตั้งครรภ์

•    มารดาเป็นโรคหัดเยอรมันหรือโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น cytomegalovirus หรือเป็นโรค toxoplasmosis
•    มารดาเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคลมชักชนิดรุนแรง หรือโรคขาดอาหารรุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนกับมารดาในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน เช่น แม่เป็นความดันโลหิตสูง เกิดมีปัญหาระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือระบบหายใจ
•    ระหว่างตั้งครรภ์มารดาได้รับบาดเจ็บ อุบัติเหตุ ดื่มเหล้าจัด สูบบุหรี่จัด ได้รับสารพิษ หรือสารกัมมันตรังสี
•    สาเหตุจากความผิดปกติของพัฒนาการของสมองทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา

ความผิดปกติทางพันธุกรรม
ภาวะหลอดเลือดสมองของทารกตีบหรืออุดตัน หรือความผิดปกติอื่นๆของเส้นเลือดในสมองของทารกในครรภ์  ในต่างประเทศมีรายงานภาวะเลือดออกในสมองที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองและระบบประสาท

สาเหตุที่เกิดระหว่างการคลอด
•    ทารกคลอดยาก คลอดท่าก้น ครรภ์แฝด
•    รกพันคอ
•    สมองทารกได้รับบาดเจ็บ หรือมีเลือดออกในสมองขณะคลอด
•    ความผิดปกติของการคลอด เช่น รกเกาะต่ำ
•    ทารกคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะถ้าน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 1500 กรัม
•    สาเหตุที่เกิดขึ้นหลังคลอด
•    ทารกแรกเกิดไม่หายใจ ภาวะตัวเขียวหลังคลอด
•    ทารกแรกเกิดที่ไม่ร้องภายใน 5 นาทีแรกหลังคลอด
•    ทารกแรกเกิดที่ต้องอยู่ในตู้อบเกิน 4 สัปดาห์
•    ทารกแรกเกิดที่มีภาวะดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง ชนิดรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังคลอดในช่วงสัปดาห์แรก
•    ทารกหรือเด็กเล็กภายใน 3-5 ขวบแรกที่เป็นโรคติดเชื้อของสมอง สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กมีการติดเชื้อในช่วงสัปดาห์แรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และโรคสมองอักเสบจากไวรัส
•    สมองขาดออกซิเจน เช่น สิ่งแปลกปลอมติดคอ จมน้ำ บาดเจ็บของศีรษะ โรคของเส้นเลือด และการติดเชื้อในสมอง
•    บางรายพบว่าเกิดจากเด็กอาจจะได้รับอุบัติเหตุหรือกระทบกระเทือนกับสมองโดยตรง ทารกที่ได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น รถชน รถคว่ำ พลัดตกจากที่สูง ถูกจับเขย่าตัวแรงๆ
•    ภาวะชักที่พบในทารกแรกเกิด
•    อาจเกิดจากสารพิษ เช่นโรคพิษตะกั่วซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กที่กินสีทาบ้านที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว

ลักษณะของเด็กสมองพิการ   เด็กสมองพิการ มีหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่จะอ่อนปวกเปียก และจะค่อยๆ เกร็งมากขึ้นทีละน้อย ลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนของเด็กสมองพิการ ได้แก่ กล้ามเนื้อหดตัวและเกร็ง พบความผิดปกติของการควบคุมการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวช้า เก้งก้าง และมีอาการเกร็ง กลุ่มนี้พบมากที่สุด
บางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้อควบคุมการเคลื่อนไหวได้ยาก แขน ขาไม่สัมพันธ์กัน หันออกไปตามทิศต่างๆ ส่วนชนิดที่มีอาการสั่น เดินเซ ควบคุมการทรงตัวได้ไม่ดี เป็นชนิดที่พบน้อยที่สุด
ในกรณีที่เป็นแบบผสม จะพบลักษณะร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิด เช่น มีอาการเกร็ง ร่วมกับมีอาการเคลื่อนไหวของแขนและขาไม่สัมพันธ์กัน หันไปคนละทิศ หรือมีอาการเกร็งและควบคุมการทรงตัวไม่ได้ มีอาการสั่น เดินเซ เป็นต้น

อาการผิดปกติของเด็กโรคสมองพิการ
•    ไม่สามารถตั้งคลานได้
•    มีอาการเกร็งของแขนและขาทั้งสองข้าง
•    มีอาการเกร็งของแขน ขา ซีกใดซีกหนึ่ง
•    เมื่อฉุดเด็กนั่ง คอเด็กจะตกไปข้างหลัง
•    มีการกำมือตลอดเวลา แม้อายุมากขึ้น
•    ขณะนั่งและยืน เด็กไม่สามารถวางเท้าราบกับพื้นได้
•    เด็กอ่อนปวกเปียกขณะถูกอุ้ม เด็กไม่สามารถทรงตัวได้

โรคสมองพิการชนิดหดเกร็ง
โรคสมองพิการชนิดหดเกร็ง หรือที่เรียกว่า spastic CP พบได้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50- 75 ของทั้งหมด โดยจะมีความตึงตัวของกล้ามเนื้อมากผิดปกติ ร่วมกับมีลักษณะท่าทางที่ผิดปกติจากผลของปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ สามารถแบ่งเป็นกลุ่มๆตามส่วนของร่างกายที่ผิดปกติออกเป็นหลายประเภท
ประเภท spastic hemiparesis พบมากที่สุดในบรรดาผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการชนิดหดเกร็ง มีอาการของแขนและขาข้างเดียวกัน โดยแขนเป็นมากกว่าขา เห็นลักษณะท่าทางของแขนที่ผิดปกติชัดเจน คือ มีการงอของข้อศอก แขนคว่ำ ข้อมือและนิ้วงอ ส่วนที่ขาจะเดินเท้าจิกลง ส่วนมากโรคสมองพิการชนิดหดเกร็งกลุ่มนี้เกิดจากการบาดเจ็บช่วงการคลอด
โรคสมองพิการชนิดหดเกร็งประเภท spastic diplegia มีอาการของขาและแขนทั้ง 2 ข้าง โดยขา 2 ข้างมีอาการมากกว่าแขน เด็กจะเดินเกร็งเท้าจิกลงหรือไขว้กัน ส่วนที่แขนพบมีเพียงความตึงตัวของกล้ามเนื้อหรือปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ที่ไวกว่าปกติ มักมีสาเหตุจากการคลอดก่อนกำหนด
ประเภท spastic quadriplegia มีอาการของแขนขาทั้งหมด โดยขา 2 ข้าง มีอาการมากกว่าแขน และในส่วนของแขน มีความผิดปกติให้เห็นชัดเจน เกิดจากพยาธิสภาพในสมองที่ใหญ่และรุนแรง มักจะมีความผิดปกติในส่วนอื่นของร่างกายร่วมด้วย รวมทั้งปัญหาการดูด กลืนและการพูด
โรคสมองพิการชนิดหดเกร็งประเภท double hemiplegia มีอาการของแขนขาทั้งหมด และแขน 2 ข้างมีอาการมากกว่าขา
ผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการชนิดหดเกร็งมักมีอาการที่ขามากกว่าแขน พบปัญหาความผิดปกติด้านการเรียนรู้และอาการชักได้น้อย แต่อาจพบอาการสั่นเกิดขึ้นที่แขนขาข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย บางรายอาจสั่นมากจนมีผลต่อการเคลื่อนไหว

โรคสมองพิการชนิดยุกยิก
โรคสมองพิการชนิดยุกยิก หรือที่เรียกว่า athetoid CP (dyskinetic CP) พบได้ร้อยละ 10-20 ของทั้งหมด ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากภาวะเหลืองหลังคลอดในทารกแรกเกิด ซึ่งปัจจุบันลดลงจากการแพทย์ที่ดีขึ้น มักมีอาการที่แขนมากกว่าขา
บางรายมีการเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ ของกล้ามเนื้อส่วนปลายแขน รวมทั้งใบหน้า (athetosis) บางรายมีการเคลื่อนไหวของใบหน้าและกล้ามเนื้อส่วนปลายแขนอย่างรวดเร็ว และไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ (chorea)
โรคสมองพิการชนิดยุกยิกประเภท dystonia จะมีการบิดและการเพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อเป็นจังหวะที่ส่วนของลำตัวและกล้ามเนื้อต้นแขน และจะคงอยู่ในท่านั้น ๆ อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง พบว่ามีการสั่นของกล้ามเนื้อเป็นจังหวะ (tremor) ร่วมด้วยบ่อยในผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการชนิดยุกยิก
โรคสมองพิการชนิดยุกยิกมักมีอาการผิดปกติปรากฏชัดที่กล้ามเนื้อใบหน้าและลิ้น พบอาการพูดไม่ชัดได้บ่อย บางรายมีความผิดปกติของการได้ยินร่วมด้วย

โรคสมองพิการชนิดเดินเซ
โรคสมองพิการชนิดเดินเซ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ataxic CP พบได้ร้อยละ 5-10 ของทั้งหมด
สูญเสียความสามารถในการทรงตัวและการรับรู้ระดับสูง-ต่ำ การทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อแขนขาอาจบกพร่องอย่างรุนแรง ลักษณะการเดินไม่มั่นคงและเท้าทั้งสองแยกห่างออกจากกัน มักมีปัญหากับการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วหรือที่ต้องใช้ความแม่นยำ เช่น เขียนหนังสือ เย็บกระดุมเสื้อ บางรายอาจมีอาการสั่นชนิดที่เกิดขึ้นเมื่อตั้งใจ เช่น ขณะเอื้อมมือหยิบสิ่งของ อาการสั่นจะปรากฏชัดมากขึ้นเมื่อเข้าใกล้สิ่งของที่เป็นเป้าหมาย
นอกจากนี้ยังอาจพบกลุ่มที่มีอาการเกร็ง และเคลื่อนไหวน้อยลง (rigidity) กลุ่มที่มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลงหรือไม่มีเลย (hypotonic and atonic type)

โรคสมองพิการชนิดผสม
spastic – athetoid ,spastic – ataxia ,spastic – rigidity
โรคสมองพิการชนิดผสม พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยโรคสมองพิการทั้งหมด
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงเป็นสำคัญ มักจะวินิจฉัยได้ชัดเจน เมื่ออายุ 1-2 ขวบ ซึ่งบางครั้งอาจต้องติดตามเฝ้าดูอาการเปลี่ยนแปลงสักระยะหนึ่ง จึงจะสรุปได้ชัดเจนในรายที่ไม่แน่ใจ อาจทำการตรวจสมอง เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตรวจคลื่นสมอง เป็นต้น เพื่อค้นหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจมีอาการแสดงคล้ายโรคสมองพิการ

*อาการที่แสดงไว้เพื่อเป็นคำแนะนำในเบื้องต้นเท่านั้น

    •    หากสงสัย เช่น ทารกหรือเด็กเล็กมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ มีกล้ามเนื้อแข็งหรืออ่อนตัวกว่าปกติ มีการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ เป็นต้น ควรพาไปปรึกษา แพทย์โดยเร็ว
    •    เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองพิการ พ่อแม่ หรือผู้ปกครองควรให้การดูแลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กสามารถพึ่งตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
    •    หลักการรักษา แพทย์จะให้การรักษาตามลักษณะอาการที่พบ ส่วนมากจำเป็นต้องให้การรักษาทางกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน ฝึกพูด แก้ไขความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาและการได้ยิน ส่วนยาที่ให้ จะเป็นยาที่ใช้ควบคุมอาการเกร็ง อาการสั่น อาการชัก ซึ่งมีให้เลือกอยู่หลายชนิด และจำเป็นต้องกินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
    •    บางครั้งแพทย์อาจฉีดสารโบท็อกซ์ (Botox) เพื่อลดการแข็งตัวของกล้ามเนื้อ บางรายอาจต้องทำการผ่าตัดแก้ไขความพิการและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ