"ยาปฏิชีวนะ...ทำไมต้องกินจนหมด" ยาปฏิชีวนะที่เราคุ้นหรือเรียกกันว่ายาแก้อักเสบ หรือ ยาฆ่าเชื้อเป็นยาชนิดหนึ่งที่เรามักจะได้รับเวลาที่ป่วยแล้วไปหาคุณหมอ และทุกครั้งจะต้องได้รับคำแนะนำว่า ให้รับประทานยาติดต่อกันจนกว่ายาจะหมด แต่ทำไมเราต้องกินยาปฏิชีวนะให้หมดด้วย และหากกินไม่หมดจะเกิดอะไรขึ้น
ยาปฏิชีวนะ คือยายับยั้ง ฆ่า หรือ ต้านทานจุลชีพซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นเชื้อแบคทีเรีย บางคนจึงเรียกว่า ยาต้านแบคทีเรีย (Antibacterial) แต่ยังอาจครอบคลุมถึงเชื้อไวรัสบางชนิด และเชื้อราบางชนิดได้ด้วย
โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะนั้นมีกระบวนการทำลายและยับยั้งการเจริญ เติบโตของเชื้อแบคทีเรีย คือ
- ทำลายเยื้อหุ้มเซลล์ ซึ่งเป็นเยื่อบางๆที่หุ้มตัวเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้สมดุลในการดำรงชีวิตของเชื้อโรคเสียไปและตายในที่สุด
- ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ ซึ่งเป็นผนังภายนอกสุดของเซลล์ ที่ห่อหุ้มเยื่อหุ้มเซลล์อีกที ด้วยกลไกนี้จะทำให้เชื้อแบคทีเรียต่างๆไม่สามารถแพร่พันธุ์ จึงหยุดการเจริญเติบโต
- ก่อกวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรมในตัวของเชื้อแบคทีเรีย สารพันธุกรรมที่เรามักคุ้นเคยกัน ที่เรียกว่า DNA และ RNA นั้น กลไกดังกล่าวจะทำให้เชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถผลิตลูกหลานออกมาทำอันตรายต่อร่างกายคนเราได้อีกต่อไป
- กระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรีย ปลดปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยตัวเองและตายลงในที่สุด
ซึ่งการรักษาโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยใช้ยาปฏิชีวนะนั้น จะต้องกินให้ได้ครบตามขนาด และระยะเวลาที่จะฆ่าเชื้อที่เป็นสาเหตุได้หมด แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว ซึ่งแต่ละโรคจะใช้ขนาดยา และระยะเวลาการรักษาต่างกัน แพทย์และเภสัชกรจะเป็นผู้กำหนดให้ได้ว่า จะกินขนาดเท่าไร เป็นเวลานานเท่าไร หากเรากินยาไม่ครบตามที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่งนั้น อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล หรือกลับเป็นโรคนั้นใหม่ และเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุอาจจะเปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยา ทำให้ต้องใช้ยาที่แพงขึ้น ในการรักษา หรือรักษาได้ยากขึ้น
และการใช้ยาปฏิชีวนะนานเกินไป หรือใช้มากเกินไปก็ทำให้เกิดผลเสีย ดังนั้นการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะควรต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ หรือขอคำแนะนำจากเภสัชกรก่อนใช้เสมอค่ะ


ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์