ต่อมลูกหมาก (prostate gland) เป็นอวัยวะส่วนหนี่งของระบบสืบพันธุ์ชาย  เป็นโรงงานผลิตน้ำอสุจิ  สร้างสารเมือก  นำส่งและหล่อเลี้ยงเชื้ออสุจิ   รูปร่างคล้ายลูกหมากหรือลูกเกาลัด มีขนาดเท่าผลลิ้นจี่   เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 ซม. น้ำหนักประมาณ 20 กรัม อยู่ติดกับส่วนล่างของกระเพาะปัสสาวะโดยมีท่อปัสสาวะส่วนต้นผ่านกลางต่อมลูกหมาก จึงทำให้ต่อมลูกหมากอยู่รอบท่อทางเดินปัสสาวะ

โรคต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia, BPH) 

พบบ่อยในเพศชายสูงอายุ  เกิดจากต่อมลูกหมากมีขนาดโตขึ้นตามอายุ จากเซลล์ที่แบ่งตัวมากขึ้น   ระยะแรกจะยังไม่ทำให้เกิดอาการ   จนกระทั่งโตขึ้นไปกดท่อทางเดินปัสสาวะส่วนต้น  ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะลำบาก   ถ้ายังไม่รักษา ก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ จนกดเบียดท่อทางเดินปัสสาวะอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ปัสสาวะระบายออกจากกระเพาะปัสสาวะไม่ได้   ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

อาการ : มีความผิดปกติในการกักเก็บและถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อยครั้ง   ลุกขึ้นถ่ายกลางดึกบ่อยๆ ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ ถ่ายแต่ละครั้งออกได้ทีละน้อย รู้สึกปัสสาวะพุ่งไม่แรงจนต้องออกแรงเบ่ง บางคนอาจรู้สึกปัสสาวะไม่สุด  หรือรุนแรงถ่ายออกเป็นเลือด อาจมีอาการขัดเบาจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และบางคนรุนแรงมากจนถ่ายปัสสาวะไม่ออกเลยเนื่องจากท่อปัสสาวะถูกต่อมลูกหมากเบียดจนกดอุดตันนั่นเอง

ภาวะแทรกซ้อน : เกิดจากการที่ต่อมลูกหมากโตมากจนปิดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะ   ทำให้ปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ประกอบด้ว 

  • ปัสสาวะไม่ได้เลย (urinary retention) : ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดท้องน้อยอย่างมาก จากกระเพาะปัสสาวะเต็มไปด้วยปัสสาวะจนตึง หลังจากปัสสาวะไม่ได้มานานมากกว่า 6-8 ชั่วโมง  
  • ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ : เกิดจากผู้ป่วยปัสสาวะไม่สุดนานๆ จึงมีเชื้อแบคทีเรียคั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ จนเกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะตามมา 
  • นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ 
  • กระเพาะปัสสาวะเสียหาย : เกิดจากปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานๆ จนกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถบีบไล่ปัสสาวะได้ตามปกติ  
  • ไตเสียหาย  

สาเหตุ : ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคต่อมลูกหมากโต แต่เชื่อว่าเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศชายในต่อมลูกหมากเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น คือ จะมีความเข้มข้นของฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนในต่อมลูกหมากมากขึ้น จึงกระตุ้นให้เซลล์ในต่อมลูกหมากแบ่งตัวมากขึ้น (hyperplasia) ส่งผลให้ต่อมลูกหมากมีขนาดโตขึ้น 

การรักษาด้วยยา ปัจจุบันมียา 2 กลุ่มใหญ่ๆ ที่ใช้ในการรักษา  คือ  

1.กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อเรียบของต่อมลูกหมาก  ลดการบีบตัวของต่อมลูกหมาก  ได้แก่

ยาประเภท Alpha blocker จัดเป็นยาลำดับแรกๆที่ใช้รักษาผู้ป่วย เนื่องจากต่อมลูกหมากและทางออกของกระเพาะปัสสาวะมีกล้ามเนื้อเรียบแทรกอยู่   และถ้ากล้ามเนื้อส่วนนี้เกิดการหดตัวขึ้นมาก็จะทำให้ปัสสาวะออกลำบาก   การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อโดยทำให้การบีบตัวของต่อมลูกหมากลดลงไปเป็นผลให้การถ่ายปัสสาวะสะดวกขึ้นหรือดีขึ้น ยากลุ่มนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นเร็วในช่วง 6 เดือนแรก สามารถแบ่งยาได้เป็น 2 ประเภท คือ

ประเภทที่ลดการบีบตัวของต่อมลูกหมาก และยังลดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายตัว  มีผลลดความดันโลหิตลงได้ด้วย   แต่จะไม่มีผลในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตปกติ ได้แก่ ยา prazosin, doxazosin และ terazosin

ประเภทที่ลดการบีบตัวของต่อมลูกหมากอย่างเดียวโดยไม่มีผลต่อความดันโลหิต ได้แก่ยา alfuzosin และ tamsulosin

ยาทั้งสองประเภทมีระยะเวลาในการออกฤทธิ์นาน ส่วนใหญ่ให้รับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง 

ข้อควรระวัง : อาจเกิดอาการหน้ามืดเวลาลุกขึ้นในตอนเช้า เวียนศีรษะ   ซึ่งพบในระยะแรกของการรักษา สำหรับยาประเภทที่ลด   การบีบตัวของต่อมลูกหมากอย่างเดียว   อาจมีอาการข้างเคียงอื่นร่วมด้วยเช่น   การหลั่งของน้ำเชื้ออสุจิผิดปกติได้

2. กลุ่มยาปรับความสมดุลของฮอร์โมนเพศ ยากลุ่ม 5?-reductase inhibitors :  ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย  ทำให้มีความเข้มข้นของฮอร์โมนเพศชายในต่อมลูกหมากลดลง    ต่อมลูกหมากจึงมีขนาดเล็กลง เหมาะกับผู้ป่วยที่มีต่อมลูกหมากขนาดใหญ่   โดยจะเห็นผลหลังรักษาไปแล้ว 6-12 เดือน   ซึ่งใช้เวลานานกว่ายากลุ่ม Alpha blockers   ในระยะยาวขนาดของต่อมลูกหมากจะไม่ลดลงอีก แต่จะช่วยลดโอกาสการเกิดปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลันได้    ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ คือ finasteride และ dutasteride

ผลข้างเคียง : จากยากลุ่มนี้ที่พบได้บ่อย คือ  ความต้องการทางเพศลดลงและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ  

กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการค่อนข้างมาก  สามรถใช้ยากลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ร่วมกันได้   เนื่องจากยาทั้งสองกลุ่มนี้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน  จึงทำให้ผลการรักษาดีกว่าการใช้ยาตัวใดตัวหนึ่ง   โดยประโยชน์ระยะยาวจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น   ถ่ายปัสสาวะไม่ออก หรือถ่ายเป็นเลือดได้



ข้อมูลจากฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์