"ระวังโรคกระดูกพรุนคุกคาม" แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อการเสริมสร้าง กระดูกและฟัน และเป็นส่วนประกอบที่มีมากที่สุดในกระดูกและฟัน หากร่างกายได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอ ร่างกายจะดึงแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ก็จะก่อให้เกิดอาการกระดูกพรุนตามมาค่ะ
แท้จริงแล้วประโยชน์ของแคลเซียมมีมากกว่าการเสริมสร้างกระดูกและฟัน เพราะแคลเซียมยังมีส่วนช่วยในการทำงานของเซลระบบประสาทและสมอง การทำงานของกล้ามเนื้อให้เป็นปกติ ช่วยในการแข็งตัวของเลือด รวมถึงการช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงด้วย
ตามหลักโภชนาการที่ถูกต้อง ร่างกายของคนเรา (ผู้ใหญ่) ต้องการแคลเซียมประมาณวันละ 800-1,200 มิลลิกรัม ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และสภาวะของร่างกาย แหล่งสำคัญของแคลเซียมก็คือประเภทนมและผลิตภัณฑ์จากนม โดยในนม 1 แก้ว หรือ 1 กล่อง (250 ซีซี) จะให้แคลเซียมสูงถึง 300 มิลลิกรัม ที่สำคัญแคลเซียมจากนม นับเป็นแคลเซียมที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ดีที่สุด นอกจากนั้นแคลเซียมก็ยังมีมากในปลาเล็กปลาน้อยที่สามารถรับประทานได้ทั้งกระดูก เช่น ปลาไส้ตัน ปลาแก้ว กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ฯลฯ ส่วนในผัก ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ และผักใบเขียวก็มีแคลเซียมอยู่ไม่น้อยเช่นกัน แต่เนื่องจากในผักใบเขียวบางชนิดมีสารออกซาเลตสูง อาจรบกวนการดูดซึมแคลเซียมของร่างกาย จึงอาจทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมจากผักน้อยลง ส่วนผักบางชนิด เช่น ผักกวางตุ้ง คะน้า บร็อคโคลี และผักกาดเขียว มีแคลเซียมสูงและร่างกายดูดซึมได้ดี
แม้ในอาหารหลายประเภทที่เรารับประทานประจำวันจะมีแคลเซียม แต่การรับประทานในแต่ละวันนั้นร่างกายอาจได้รับแคลเซียมที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทางกองโภชนาการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดข้อแนะนำให้คนไทยบริโภคนมอย่างน้อยวันละ 1-2 แก้ว ซึ่งนอกจากจะให้แคลเซียมแล้ว ยังให้สารอาหารอื่นๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินดี ฟอสฟอรัส เป็นต้น แต่ที่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังประสบกับปัญหาขาดแคลเซียม เนื่องจากคนไทยไม่คุ้นเคยกับการบริโภคนมและรับประทาานอาหารที่มีแคลเซียมสูงเพียงพอ จึงทำให้คนไทยยังต้องประสบกับภาวะโรคกระดูกพรุนอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อยู่ในวัยคุณภาพและวัยสูงอายุ
อาการขาดแคลเซียมไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่ร่างกายขาดแคลเซียม แต่จะค่อยๆ แสดงออกมาทีละน้อย โดยอาการแรกเริ่มของการขาดแคลเซียมที่สังเกตได้ ก็คือ เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อและเป็นตะคริวอันเนื่องมาจากการหดตัวของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ และเมื่อขาดแคลเซียมมากขึ้น ร่างกายก็จะดึงเอาแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ เมื่อนั้นแหละที่ "โรคกระดูกพรุน" จะมาเยือน
การดูแลตนเองให้ห่างใกลจากโรคกระดุกพรุน เราจำเป็นต้องเริ่มสะสมแคลเซียมให้กับร่างกายตั้งแต่เด็กๆ และแม้ในวัยผู้ใหญ่ก็ยังไม่สายเกินไป ถ้าจะสะสมแคลเซียม โดยพยายามดื่มนมอย่างน้อยวันละ 1-2 แก้ว สำหรับผู้ดื่มนมไม่ได้ เพราะมีน้ำย่อยแลคเตสซึ่งย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมน้อยลง ควรเริ่มด้วยการดื่มนมทีละน้อย โดยเริ่มจาก 1/3-1/2 แก้ว หรืออาจดื่มผสมกับเครื่องดื่มรสช็อกโกแลต และอีกทางเลือกหนึ่งก็คืออาจรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมแทน ซึ่งปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์จากนมมีหลากหลาายรูปแบบ เช่น โยเกิร์ต ชีส หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแคลเซียมจากนม เช่น เครื่องดื่มมอลต์สกัดรสช็อกโกแลต เป็นต้น สำหรับการเสริมแคลเซียมนั้นควรเลือกเป็นแคลเซียมจากธรรมชาติ เช่น จากนมเป็นอันดับแรกก่อนที่จะพิจารณาแคลเซียมสังเคราะห์ ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะเข้าไปยับยั้งการดูดแคลเซียมด้วย เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน บุหรี่ รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารที่มีเกลือสูง เป็นต้น
ทราบถึงความสำคัญและประโยชน์แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องเลือกสรรอาหารแคลเซียมให้กับร่างกายอย่างเพียงพอเสียทีค่ะ

ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์