"อาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหน้าร้อน" ช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้การเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อแบคทีเรีย เจริญเติบโตได้ดี ซึ่งอาหารปนเปื้อนในหน้าร้อนทำให้เกิดความเสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหารต่างๆ โรคที่ต้องระวังในหน้าร้อนมีด้วยกันหลายโรค เช่น โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค โรคบิด ซึ่งถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน อย่างไรก็ตามโรคดังกล่าวเหล่านี้เป็นโรคที่ป้องกันได้ไม่ยาก หากใส่ใจก่อนจะรับประทาน
สำหรับอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคในหน้าร้อน ได้แก่
1.อาหารประเภทกะทิ เช่น แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด ขนมพวกกะทิ ซึ่งเป็นอาหารที่ง่ายต่อการบูดเสีย เชื้อจุลินทรีย์ชอบ ต้องมั่นใจว่าเป็นอาหารปรุงสุกใหม่ หรือทานให้หมดภายในมื้อเดียว 
2.อาหารประเภทยำที่มีเนื้อต่างๆ ทั้งหมู ไก่ ปลา อาหารทะเล รวมถึงส้มตำ จำเป็นต้องทำให้สุก เพราะการลวกไม่ทำให้เชื้อโรคตาย โดยเฉพาะปูดองหรือปลาร้า 
3.ขนมจีน เส้นขนมจีน น้ำยากะทิ ถือเป็นอาหารเสียง่าย และต้องล้างผักเคียงให้สะอาด 
4.อาหารทะเล ต้องทำให้สุกทุกครั้ง เพราะมีเชื้อจุลินทรีย์ 
5.อาหารค้างคืน ต้องมั่นใจว่าไม่บูดเสีย อุ่นให้สุกใหม่ทุกครั้ง 
6.อาหารที่มีแมลงวันตอม 
7.น้ำดื่ม และน้ำแข็ง ต้องสะอาดได้มาตรฐาน ไม่ใช้น้ำแข็งแช่ร่วมกับอาหาร เพราะเสี่ยงต่อการทำให้ท้องร่วง ช่วงหน้าร้อนควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อย 8 แก้ว 
หลีกเลี่ยงอาหารมันจัด หวานจัด และเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูงย่อยยาก ให้พลังงานสูง เพิ่มความร้อนมากขึ้นได้ และกินผลไม้ไทยๆ ที่มีรสหวานน้อยเป็นประจำช่วยดับร้อนได้ดี ทั้งชมพู่ ส้ม แตงโม แก้วมังกร ซึ่งจะให้น้ำมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เพียงเท่านี้ก็จะหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยจากระบบทางเดินอาหารได้แล้วค่ะ

ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์