โรคมะเร็งจีสต์ (GIST)

ถือเป็นมะเร็งชนิดหนึ่ง ที่เกิดภายในช่องท้อง พบได้ตั้งแต่ระดับหลอดอาหารไปจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย แต่ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด คือกระเพาะอาหารประมาณ 40-60 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ ลำไส้เล็ก ประมาณ 20-40 เปอร์เซ็นต์ มักพบในเพศชายและเพศหญิงในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน อายุเฉลี่ยที่พบประมาณ 60 ปี ส่วนอายุต่ำกว่า 40 ปี ค้นพบค่อนข้างน้อย จากสถิติที่พบในต่างประเทศมีประมาณ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ของโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหารทั้งหมด โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา พบประมาณ 2,000 ? 5,000 ราย ต่อปี 

ในส่วนของประเทศไทยพบผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งจีสต์ ปีละ 300-500 ราย และมีอัตราการเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี มะเร็งชนิดจีสต์ จัดเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งยากต่อการวินิจฉัย และการรักษาเนื่องจากในช่วงแรกจะตรวจพบเนื้องอกอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งในช่องท้อง และมักจะไม่แสดงอาการให้เห็น เช่น ที่กระเพาะอาหาร ซึ่งมะเร็งชนิดจีสต์ ที่ยังคงอยู่บริเวณเดิมนั้น เราเรียกว่าการเกิดเนื้องอกเฉพาะที่ (Local Tumor) และเมื่อเนื้องอกจีสต์ เกิดการลุกลามขึ้น จะเกิดการแพร่กระจายของโรคไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จนกลายเป็นเนื้องอกจีสต์ ในระยะแพร่กระจาย ซึ่งบ่อยครั้งที่เนื้องอกจีสต์เจริญเติบโตจนมีขนาดใหญ่ ก่อนที่จะถูกตรวจพบและเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ และเยื่อบุช่องท้อง 

โรคมะเร็งของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Stromal Tumor) หรือที่เรียกว่าสั้นๆว่า มะเร็งจีสต์ (GIST) ในปัจจุบันมีการรักษาหลายวิธีด้วยกัน บางรายใช้วิธีการผ่าตัดชิ้นเนื้อในช่องท้องออกไป แต่โอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำก็มีค่อนข้างสูง หรือจะใช้วิธีแบบดั้งเดิม ที่ใช้กันมานาน คือ การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) และการฉายรังสี (Radiation) แต่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งจีสต์ กลับพบว่ามีการดื้อต่อการฉายรังสีและเคมีบำบัด โดยมีการตอบสนองเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น และโรคมักกลับเป็นซ้ำอีก หรือมีการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ได้ แต่ในปัจจุบันมีการนำวิธีการรักษาได้ด้วยยากลุ่มออกฤทธิ์ต่อเป้าหมาย (Targeted Therapy) ที่สามารถรักษาโรคได้อย่างเห็นผล เพิ่มโอกาสในการยืดชีวิตผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น 


ในปัจจุบันมีผลการศึกษาทางคลินิกรายงานว่า ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มออกฤทธิ์ต่อเป้าหมายจำนวนถึงครึ่งหนึ่ง สามารถมีชีวิตยืนยาวขึ้นมากกว่า 5 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยได้เพียง 1 ปีกว่า หรือประมาณ 19 เดือน เท่านั้น นอกจากนี้ผู้ป่วยจำนวน 68 เปอร์เซ็นต์ จะมีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองอย่างสมบูรณ์หรือตอบสนองเพียงบางส่วน โดยผู้ป่วยจำนวน 16 เปอร์เซ็นต์มีอาการของโรคคงที่ 

จากผลการศึกษายังระบุว่า การหยุดยารักษาออกฤทธิ์ต่อเป้าหมาย จะมีความเสี่ยงที่จะทำให้โรคลุกลามขึ้นได้ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยจำนวนครึ่งหนึ่ง มีโรคลุกลามขึ้นในระยะเวลาที่หยุดยาไปเพียง 6 เดือน และผู้ป่วยส่วนใหญ่มีโรคกลับเป็นซ้ำ ภายในระยะเวลา 1 ปี อย่างไรก็ดีผู้ป่วยจำนวน 92 เปอร์เซ็นต์ ที่กลับมาได้รับยา ในขณะที่โรคลุกลามขึ้นนั้น สามารถควบคุมโรคได้ นอกจากนี้ในรายของผู้ป่วยที่ไม่มีรอยของโรคหลงเหลืออยู่ จากการตรวจ CT Scan จะยังพบอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของโรค ภายหลังจากการหยุดยา ทำให้สรุปได้ว่าผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดรับประทานยาโดยไม่มีสาเหตุที่จำเป็น ยกเว้นในกรณีที่มีอาการข้างเคียงหรือตามแพทย์สั่ง แม้กระทั่งผู้ป่วยที่มีการตอบสนองที่สมบูรณ์ก็ไม่ควรหยุดยา เพื่อจะทำให้โรคไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก

มะเร็งจีสต์นั้นจัดเป็นโรคมะเร็งเดินอาหารชนิดหนึ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อชีวิต ผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคจีสต์ในระยะแรก หลังจากเริ่มต้นการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้องอกออกหมดแล้ว ผู้ป่วยก็ยังอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการกลับเป็นซ้ำของโรคได้ แต่ ณ ปัจจุบันการรักษามะเร็งจีสต์มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยสามารถให้การรักษาเสริมด้วยยากลุ่มออกฤทธิ์ต่อเป้าหมาย หรือที่เรียกว่า ?adjuvant therapy? ในผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดก้อนมะเร็งจีสต์ออกได้อย่างสมบูรณ์และไม่มีการแพร่กระจายของโรค ข้อบ่งชี้นี้เพิ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยาแห่งประเทศไทย ผลการวิจัยล่าสุดพบว่าการรักษาเสริมด้วยยากลุ่มออกฤทธิ์ต่อเป้าหมายดังกล่าวสามารถลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็งจีสต์ได้ พบว่าที่ระยะเวลาหนึ่งปี การรอดชีวิตโดยปลอดการกลับเป็นซ้ำในผู้ป่วยมะเร็งจีสต์ที่รับประทานยาดังกล่าวเท่ากับ 98 เปอร์เซ็นต์

การรักษาโรคมะเร็ง  ด้วยการใช้ยาในปัจจุบัน มีมะเร็งหลายชนิดที่สามารถรักษาและหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ แต่จะต้องใช้ยาในการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ยืดชีวิตของผู้ป่วยได้ยืนยาวมากกว่า 5 ปี และในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาเสริมตั้งแต่แรกจะช่วยลดการกลับเป็นซ้ำของโรค ซึ่งส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

โรคมะเร็งจีสต์ เป็นภัยร้ายของมะเร็งของระบบทางเดินอาหารชนิดใหม่ อีกชนิดหนึ่ง ที่ไม่สามารถตรวจพบได้โดยง่าย ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มักจะค้นพบโรคเมื่ออยู่ในระยะลุกลาม ยากต่อการรักษา จึงจำเป็นต้องหมั่นตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ และหมั่นสังเกตลักษณะอาการของตนเองอย่างต่อเนื่อง หากมีอาการปวดท้องรุนแรง หรือมีอาการท้องโตผิดปกติ หรือคลำพบก้อนที่บริเวณท้อง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน