ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง จะเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ยิ่งพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ ขอยึดหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่ายๆ ได้แก่  กินร้อน คือกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หากยังไม่กิน ต้องเก็บในตู้เย็นและอุ่นให้ร้อนก่อนกิน  ใช้ช้อนกลาง ในการกินอาหารร่วมกัน ล้างมือ ทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม และดื่มน้ำที่สะอาด เช่น น้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. หรือน้ำต้มสุก

กรมควบคุมโรค ออกประกาศเตือนประชาชนป้องกันโรคที่เกิดในฤดูร้อนที่พบได้บ่อยทุกปีมี 6 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง (Acute Diarrhea) โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) บิด (Dysentery) ไทฟอยด์ (Typhoid) อหิวาตกโรค (Cholera) และโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการ 3 เรื่องได้แก่

1.ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ประชาชนทั่วประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย

2.ให้เฝ้าระวังความสะอาดอาหาร น้ำดื่ม น้ำประปา ตลาดสด และส้วมสาธารณะอย่างเข้มงวด และ

3.ให้ติดตามสถานการณ์การป่วยของประชาชนอย่างใกล้ชิด หากมีรายงานผู้ป่วยโรคดังกล่าว ให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วที่มีกว่า 1,200 ทีมทั่วประเทศ ออกสอบสวนควบคุมโรคทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาด

โรคติดต่อสำคัญที่มักเกิดในฤดูร้อนประกอบด้วย โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ 5 โรค ได้แก่   อุจจาระร่วง  อาหารเป็นพิษ  โรคบิด  อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์

จากสถิติที่ผ่านมา ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 90 เกิดจากโรคอุจจาระร่วง ซึ่งการติดต่อโรคดังกล่าว เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่เชื้อมีปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม หรืออาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ อาหารค้างคืน อาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วย มักถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดปน ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน

การดูแลผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง

ในระยะแรกควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือที่เรียกว่าโอ อาร์ เอส โดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซองผสมกับน้ำต้มสุกเย็น 1 แก้ว หากไม่มีผงน้ำตาลเกลือแร่ ให้ใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุกเย็น 1 ขวดน้ำปลากลม ให้ดื่มแทนผงน้ำตาลเกลือแร่ได้เช่นกัน ประการสำคัญหลังผสมแล้ว จะต้องดื่มให้หมดภายใน 1 วัน และถ้าอาการไม่ดีขึ้น ยังไม่หยุดถ่ายเหลว ให้รีบไปพบแพทย์

ส่วนโรคพิษสุนัขบ้า

เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน ไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย โรคนี้พบได้ตลอดปี แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงในช่วงหน้าร้อน ปี 2553 พบผู้ป่วยทั้งหมด 14 ราย เสียชีวิตทุกราย ซึ่งร้อยละ 95 ของผู้เสียชีวิตเกิดจากถูกสุนัขบ้ากัด ในปีนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย โรคดังกล่าวติดต่อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผลอยู่แล้ว หรือน้ำลายของสัตว์กระเด็นเข้าตา ปาก จมูก หลังจากที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีระยะฟักตัวและปรากฏอาการประมาณ 3 สัปดาห์จนถึง 4 เดือน บางรายอาจเร็วเพียง 4 วัน หรืออาจนานเกิน 1 ปี ซึ่งอาการจะปรากฏช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่เข้าไป เช่น หากถูกกัดบาดแผลใหญ่ ลึก ทำให้เชื้อเข้าไปได้มาก และขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เชื้อเข้า ถ้ามีปลายประสาทมากจะอันตราย เพราะเชื้อมีโอกาสเข้าสู่ระบบประสาท ถ้าอยู่ใกล้สมองมาก เชื้อจะเดินทางไปถึงสมองได้เร็ว ระยะฟักตัวจะสั้น

สุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

แสดงอาการได้ 2 แบบคือแบบดุร้าย นิสัยของสัตว์ผิดไปจากเดิม ตื่นเต้น ตกใจง่าย กระวนกระวาย กัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ไวต่อแสงและเสียง ต่อมาเป็นอัมพาต หลังแข็ง หางตก ลิ้นห้อย กลืนไม่ได้ ขากรรไกรแข็ง ชักและตายภายใน 10 วันหลังแสดงอาการ และแบบซึม บางตัวมีอาการคล้ายมีก้าง กระดูกติดคอ ทำให้เจ้าของเข้าใจผิดและเอามือไปล้วงที่ปาก ทั้งนี้ วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดก็คือ ให้นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง เริ่มฉีดเมื่ออายุ 2-4 เดือน และระวังบุตรหลานไม่ให้เล่นกับสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด หรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เช็ดให้แห้ง แล้วใส่ยารักษาแผลสด เช่น โพรวิโดนไอโอดีน และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง



ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์